วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไพรินทร์ พรวนแก้ว : การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

บทความวิจัย :  การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้
                                                    เทคนิค  CIRC เรื่อง My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  
                                 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  
                                                                                    ไพรินทร์  พรวนแก้ว 1  จรูญ  พานิชย์ผลินไชย 2

การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้
เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My  happy  family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
THE  DEVELOPMENT A SET OF ACTIVITIES IN ORDER  DEVELOP
ENGLISH READING FOR THE UNDERSTANDING  BY  USING TECHNIQUE CIRC
A STORY ENTITLED   “ MY HAPPY FAMILY ” ,  CASE STUDY OF PRATHOMSUKSA 6
STUDENTS LEARNING AREA OF FOREIGN UAGES.
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์  1)เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ตามเกณฑ์ 75/75  2)  เพื่อทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค CIRC  เรื่อง My happy  family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับ        นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6 2.1)การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง My happy family ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  กับเกณฑ์ร้อยละ 75   2.2) ศึกษาพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิคCIRC เรื่อง My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   
กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนบ้านหนอง       ชุมแสง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร  เขต 2   จำนวน 14 คน   ได้โดยการการเลือกแบบเจาะจง (Purposive  Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความ   เข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง My happy family จำนวน 4 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 My  family  ชุดที่ 2  Family tree ชุดที่ 3 Occupation ชุดที่ 4 Housework  แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรม การทำงานร่วมกันของนักเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่า t (t–test One  Sample)
ผลการวิจัย  พบว่า1) ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค CIRC  เรื่อง My happy family  มีความเหมาะสมในระดับมาก  มีและมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.13/78.17   2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อเทียบกับเกณฑ์พบว่า  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีพฤติกรรมการทำงานร่วมกันอยู่ในระดับมาก  3)นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ  : ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC
ABSTRACT
The purpose of this research were 1)To create a set of activities in order develop English  reading for the understanding  by using  technique CIRC  a story entitled “ My happy family”, the research, conducted under the matter of area case study of foreign languages for Prathomsuksa 6 students ,is bases on 75/75 2) To try out and study the set of activities in order develop English reading for the understanding  by using  technique CIRC a story entitled “ My happy family”.”which is divided in to. 2.1) To compare learning achievement  through this story with the criteria percentage of 75  2.2) To study habits of students working together. 3) To study the students’s toward learning by using a set of activities in order develop English reading for the understanding  by using  technique CIRC  a story entitled “ My happy family”
The samples used in this research were 14 of Prathomsuksa 6 students of the Bannongchumsaeng  School.The subject was registered in the second semester of 2011 academic year.Tools used in research were 4 sets such as My family, Family tree ,Occupation  and Housework of learning activity ; an evaluation from of learning achievement; an observation from of behavior of students working together.Statistics  used in date analysis are standard division values,t-test (One  Sample)
            The research results show that this set of learning activities is appropriate level. The result of the application with  students is of 81.13/78.17  of efficiency. The learning outcome is higher than the required percentage of 75 and has a statistical significance at level .05  The behavior of the subject in collaborative learning activities is at high level of satisfaction. The student have a high level of satisfaction towards a set of activities in order develop English  reading for the understanding  by using  technique CIRC  a story entitled “ My happy family”.
Keywords  : Set of activity,  reading English for the understanding ,technigue CIRC
บทนำ
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ข้อมูลข่าวสารจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในโลกได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ มีการติดต่อสื่อสารกัน สามารถรับรู้ได้ อย่างไร้พรมแดนภาษาอังกฤษซึ่งนับเป็นภาษาสากลที่ใช้ติดต่อกันระหว่างชาติต่างๆมากที่สุดภาษาอังกฤษจึงมีบทบาทมากในฐานะเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมกับประเทศอื่น ๆ   ในโลก   ตลอดจนใช้ในการแสวงหาความรู้จากเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ  ภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็น   เนื่องจากสารสนเทศต่าง ๆ  ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ หรือการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การส่งออกและการ ติดต่อกับต่างประเทศ   การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกเบิกไปสู่การเรียนรู้   การที่ผู้เรียนเรียนรู้และเข้าใจภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาสากลจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประยุกต์ในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ที่ทันสมัย   เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเอง   สังคมและประเทศชาติ  เป็นพื้นฐานในการเรียนต่อระดับสูงและการประกอบอาชีพในอนาคต  การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเป็นทักษะทางภาษาที่ผู้เรียนควรฝึกฝนเพื่อใช้เป็นพื้นฐานความรู้ให้ผู้เรียนและช่วยให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจและสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ถูกต้อง   ทั้งในด้านการฟัง  การพูด  การอ่านและการเขียน   เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป    ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาพุทธศักราช 2542 หมวด 4 มาตรา 22 กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542, หน้า 12)
          การจัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มีการจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นความสำคัญในด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และความรับผิดชอบต่อสังคม  เพื่อพัฒนาคนให้มีความสมดุล  โดยยึดหลักนักเรียนสำคัญที่สุดเพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเอง  และส่งเสริมให้นักเรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ  โดยในส่วนของการเรียนภาษาต่างประเทศได้มีการกำหนด  สาระการเรียนรู้ภาษาและมาตรฐานในการเรียนรู้ภาษา  โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการรายวิชาการอ่าน  สามารถตีความจากเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ เข้าใจกระบวนการสื่อสารข้อมูล  ความคิดเห็นและความคิดรวบยอดในเรื่องต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและมีสุนทรียภาพ  ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นให้ผู้ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ (กระทรวงศึกษาธิการ , 2551)วิสัยทัศน์ของการศึกษาไทย  คือ  ให้ผู้เรียนดี  เก่ง  และมีความสุข   นอกจากนั้นคุณภาพการศึกษาในด้านคุณภาพผู้เรียน  พบว่า  ความสามารถในเรื่องของภาษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับในการปรับปรุง จึงทำให้กิจกรรมการศึกษาของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
            ากความสำคัญของภาษาอังกฤษดังกล่าวข้างต้น  การให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีทางด้านความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ   สภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ของโลกยุคโลกาภิวัฒน์
              จากรายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  6   ผลการทดสอบระดับชาติ (ONET) ปี พ.ศ.2553  พบว่า คะแนนวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาปีที่ 6  ได้คะแนนเฉลี่ย 14.67  คะแนน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2553)  คะแนนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ   มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่า
วิชาอื่น ๆ  จึงเป็นปัญหาสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   โรงเรียนบ้านหนองชุมแสง  ยังไม่ประสบผลสำเร็จ  พบว่าผู้เรียนมีปัญหาในเรื่องทักษะการอ่านมาก ผู้เรียนไม่สนใจอ่าน ไม่เห็นความสำคัญของการอ่าน   ผู้เรียนอ่านแล้วไม่เข้าใจ
ในสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน  ไม่สามารถสรุปประเด็นหรือจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้  ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ   นักเรียนเบื่อหน่ายต่อการอ่าน  ครูไม่ฝึกทักษะการอ่านที่เพียงพอให้กับผู้เรียน  ครูไม่ได้ให้ความสำคัญสำหรับการฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ ตีความเรื่องที่อ่านนอกจากนั้นยังขาดเทคนิคและวิธีการสอนที่กระตุ้นหรือดึงดูดใจให้ผู้เรียนอยากอ่าน สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การสอนของครูและการเรียน ของนักเรียนมีประสิทธิภาพคือการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เกิดความเข้าใจ  มีทักษะตามความสามารถ  และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน 
ผู้วิจัยได้หาแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่ง ผู้วิจัยได้เลือกใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC โดยคำนึงถึงธรรมชาติของเนื้อหาวิชาและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในการจัดการเรียนการสอน ผู้วิจัยสอนโดยคำนึงถึงหลักการและองค์ประกอบของการเรียนแบบร่วมมือ เทคนิค CIRC เช่น การแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ  4  คน  คละความสามารถ  นักเรียนแต่ละคนจึงสามารถนำศักยภาพของตนเองมาเสริมความสำเร็จของกลุ่ม  ทุกคนมีบทบาทในการเรียน  มีการหมุนเวียนหน้าที่กันภายในกลุ่มอย่างทั่วถึง  ทำให้นักเรียนมีโอกาสช่วยเหลือกัน  Slavin ,1987 (อ้างอิงใน ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์,2553 หน้า 80) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆโดยทั่วไปมีสมาชิกกลุ่มละ 4 คน สมาชิกกลุ่มมีความสามารถในการเรียนต่างกัน  สมาชิกกลุ่มจะมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับการสอน  และช่วยเพื่อนสมาชิกให้เกิดการเรียนรู้ด้วย มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน คือ เป้าหมายของกลุ่ม  
จากที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งชุดกิจกรรมมีทั้งหมด 4 ชุด  ประกอบด้วย  ชุดที่ 1 My family ชุดที่ 2 Family tree ชุดที่ 3 Occupation  ชุดที่ 4 Housework ชุดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานสามารถเรียนรู้ได้เอง โดยผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันหรือรายบุคคลทำให้ผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

จุดมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ตามเกณฑ์ 75/75
2. เพื่อทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6              
2.1 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เรื่อง  My happy family  
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  กับเกณฑ์ร้อยละ  75
2.2 ศึกษาพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 
3.   ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่าน
ภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค CIRC  เรื่อง My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
วิธีดำเนินการวิจัย
            การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้  เทคนิค CIRC  เรื่อง My happy family เป็นการศึกษาในลักษณะการวิจัยและพัฒนา (Research and  Development)  การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น  3  ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ   โดยใช้เทคนิค  CIRC   เรื่อง My  happy  family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ตามเกณฑ์ 75/75
ในการสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง  My happy family  ครั้งนี้  ผู้วิจัยได้ศึกษาหลักการและเทคนิคการสร้างชุดกิจกรรม เทคนิคการสอนแบบ CIRC  และเอกสารประกอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างชุดกิจกรรมทั้งหมด 4 ชุด และนำชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญ  5 ท่าน  พิจารณาถึงความเหมาะสมขององค์ประกอบต่าง  ๆ จากนั้นนำมาปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  แล้วนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่   6   โรงเรียนบ้านวังตาช่วย  จำนวน 3  คน  เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมด้านเวลาและภาษา ทดลองกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนบ้านวังตาช่วย  จำนวน  9  คน  จากนั้นนำไปทดลองกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6  จำนวน  30  คน  เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมตามเกณฑ์  75/75
ขั้นตอนที่ 2  การทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My  happy  family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่   6   ในภาคเรียนที่   2    ปีการศึกษา   2554 โรงเรียนบ้านหนองชุมแสง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร   เขต 2 จำนวน 14 คน  ได้โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive  sampling) ดำเนินการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม  ทั้ง  4 ชุด  ประกอบด้วย ชุดที่ 1  My  family   ชุดที่ 2  Family tree  ชุดที่ 3  Occupation  ชุดที่ 4  Housework  สัปดาห์ละ 3  ชั่วโมง ระยะเวลา 4  สัปดาห์  รวม 12   ชั่วโมง  และสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนขณะเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม เมื่อเรียนจบทุกชุดแล้วประเมินหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  จำนวน 20 ข้อ 
แบบแผนการทดลอง
                                                                X                                          T2
สัญลักษณ์ที่ใช้ในแบบแผนการทดลอง
            X    คือ  การจัดกระทำ  (Treatment)
            T2   คือ  การทดสอบหลังจากที่จัดกระทำการทดลอง  (Posttest)
ขั้นตอนที่  3 การศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
            การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้  หลังเสร็จสิ้นการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว    ผู้วิจัยได้แจกแบบสอบถามความพึงพอใจ   ให้กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม  แล้วนำมาตรวจความสมบูรณ์ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  แบ่งเป็น  2  ประเภท  ดังนี้
1. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC   จำนวน  4   ชุด ประกอบด้วย    ชุดที่ 1 My family ชุดที่ 2 Family tree  ชุดที่ 3  Occupation                   ชุดที่ 4   Housework
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  คือ  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  และแบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียน
การวิเคราะห์ข้อมูล
            ขั้นตอนที่  1  การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family  โดยวิเคราะห์หาค่าความเหมาะสมของชุดกิจกรรม  โดยหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานส่วนการหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม  วิเคราะห์โดยการหาค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ย
            ขั้นตอนที่  2   การทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family  โดยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ได้จากการทดสอบหลังเรียนกับเกณฑ์ร้อยละ  75   โดยการทดสอบค่า    t  (t-test One Sample)  การสังเกตพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียน  วิเคราะห์ข้อมูลโดยการโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของระดับการปฏิบัติจากพฤติกรรม 
ที่ประเมินในแต่ละชุดกิจกรรม
            ขั้นตอนที่  3  หาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำค่าเฉลี่ยทีได้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์และแปลผล
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  สรุปผลได้ดังนี้
1.ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่าชุดกิจกรรมทั้งหมดจำนวน  4  ชุด  จากผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ  5  ท่าน พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  และเมื่อนำไปหาประสิทธิภาพ พบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.13 / 78.17
2.  การทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ   โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family  
           2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค CIRC เรื่อง My happy family หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ  75  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
                       2.2  จากการศึกษาพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My happy family  พบว่า  พฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนอยู่ ในระดับ  มาก  พฤติกรรมการทำงานร่วมกันสูงสุด คือ  สมาชิกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายในกลุ่ม   และต่ำสุด คือ  มีการนำเสนออย่างเป็นขั้นตอน
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ที่มีต่อชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ   โดยใช้เทคนิค  CIRC  เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ    สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่   6    พบว่า  มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
อภิปรายผลการวิจัย
การพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ   โดยใช้เทคนิค   CIRC  เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ   สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ผู้วิจัยพบประเด็นสำคัญ   ดังนี้
            1.  การสร้างและหาประสิทธิภาพของการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family   ผู้วิจัยสร้างชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค  CIRC เรื่อง  My happy family  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีองค์ประกอบต่าง ๆ ของชุดกิจกรรมอย่างครบถ้วน  มีขั้นตอนการสร้างอย่างชัดเจน  และสร้างบนพื้นฐานและกรอบแนวคิดต่าง ๆ ของนักการศึกษาหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิศนา  แขมมณี (2534, หน้า 10  -12)  ที่กล่าวว่า  ชุดกิจกรรมประกอบด้วย ชื่อกิจกรรม   ประกอบด้วย  หมายเลขกิจกรรม   คำชี้แจง จุดมุ่งหมาย  ความคิดรวบยอด  สื่อ  เวลา  ขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรม รวมถึง  มีวัดความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนหลังจากการฝึกปฏิบัติกิจกรรมครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว โดยให้ทำแบบฝึกกิจกรรมทบทวนท้ายชุดกิจกรรม  เมื่อนำชุดกิจกรรมไปหาประสิทธิภาพ  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม ไว้ที่   75/75    โดยผู้วิจัยนำไปทดลองกับนักเรียน จำนวน 3 ครั้ง  ครั้งที่ 1 ทดลองกับนักเรียน  3 คน เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมด้านเนื้อหา  ภาษาและเวลาของชุดกิจกรรม ปรากฏว่า  กิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 4 ชุด มีเนื้อหาที่เหมาะสมและน่าสนใจ และปรับปรุงส่วนที่บกพร่อง  แล้วนำไปทดลองหาประสิทธิภาพครั้งที่ 2  กับนักเรียนจำนวน  9  คน  ปรากฏว่า  มีประสิทธิภาพ   80.28/76.11   แล้วนำไปหาประสิทธิภาพกับนักเรียนจำนวน  30  คน  ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพ   81.13 / 78.17   แสดงว่าชุดกิจกรรมทั้ง  4  ชุด  มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการสร้างชุดกิจกรรมจนเข้าใจเป็นอย่างดี   ทำให้ชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นมีองค์ประกอบที่ดี คือ มีโครงสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องและครอบคลุมกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด   ใช้ภาษาที่สื่อความหมายได้ชัดเจนเหมาะสมกับระดับของผู้เรียนอีกทั้งยังได้สร้างแบบฝึกหัดท้ายชุดกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด เนื้อหามีความเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน  นอกจากนี้การสร้างชุดกิจกรรมอย่างมีขั้นตอน  พร้อมทั้งผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญจึงทำให้ชุดกิจกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทำนองเดียวกับงานวิจัยของชุติมา เตโช และคณะ (2553)  ได้พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ  โดยใช้เทคนิค CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เรื่อง Life at home กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3จากการวิจัยพบว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมาก และมีประสิทธิภาพ 83.06 / 77.41 และชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 75/75
            2. การทดลองและศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC   
2.1  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมที่พัฒนาขึ้น  พบว่า  หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้วิจัยได้สร้างชุดกิจกรรมด้วยกระบวนการที่ดี  นอกจากนี้ยังได้นำเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณา  แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข ตามข้อเสนอแนะแล้วนำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบความเหมาะสมจนได้ชุดกิจกรรมที่มีคุณภาพ แล้วยังได้นำไปทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพตามกระบวนการของการวิจัย  นำมาปรับปรุงแก้ไขจนได้ชุดกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้วิจัยได้เลือกใช้ชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้ เทคนิค  CIRC    โดยคำนึงถึงธรรมชาติของเนื้อหาวิชาและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ในการจัดการเรียนการสอน  ผู้วิจัยสอนโดยคำนึงถึงหลักการและองค์ประกอบของการเรียนแบบร่วมมือ เทคนิค  CIRC  เช่น  การแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ  4  คน   คละความสามารถ   นักเรียนแต่ละคนจึงสามารถนำศักยภาพของตนเองมาเสริมความสำเร็จของกลุ่ม   ทุกคนมีบทบาทในการเรียน  มีการหมุนเวียนหน้าที่กันภายในกลุ่มอย่างทั่วถึง  ทำให้นักเรียนมีโอกาสช่วยเหลือกัน  ซึ่งสอดคล้องกับ Slavin ,1987 (อ้างอิงใน ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์,2553) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยทั่วไปมีสมาชิกกลุ่มละ 4  คน สมาชิกกลุ่มมีความสามารถในการเรียนต่างกัน สมาชิกกลุ่มจะมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับการสอน และช่วยเพื่อนสมาชิกให้เกิดการเรียนรู้ด้วย มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน คือ เป้าหมายของกลุ่ม  
                        2.2 จากการศึกษาพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียน ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการอ่านภาษามอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC  พบว่า พฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับ  มาก   เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ  พบว่า ข้อที่ได้ค่าเฉลี่ยมากสุด คือ  สมาชิกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายในกลุ่ม และมีการนำเสนอผลงานอย่างเป็นขั้นตอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด นิพนธ์  จิตต์ภักดี  (2528,  หน้า  43)  กล่าวถึงความหมายของการทำงานร่วมกันว่า  หมายถึง  การที่บุคคลหลาย ๆ   คนมาทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างเดียวกัน  ทุกคนในทีมมีใจตรงกัน  ทำงานร่วมกันให้เต็มที่สุดฝีมือ และประสานงานกันอย่างดี  เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ    ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์   และเป็นไปในทำนองเดียวกันกับงานวิจัยของ  ชุติมา เตโช และคณะ  (2553)     ได้พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ   โดยใช้ เทคนิค  CIRC   ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  เรื่อง Life at home   กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากการศึกษาพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียน พบว่า พฤติกรรมการทำงานร่วมกันของนักเรียนมีการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก
                 3.  ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ที่มีต่อชุดกิจกรรมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้เทคนิค CIRC กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  อยู่ในระดับมาก  ซึ่งกล่าวได้ว่าชุดกิจกรรมการเรียนรู้ช่วยส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  แล้วยังช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้มากขึ้น  พิจารณาได้จากการมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข ปฏิบัติกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย  ด้วยความเต็มใจและรับผิดชอบ  ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สื่อที่เร้าความสนใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับงานวิจัยของ สมสมร  ทีภูเวียง (2552)  ได้วิจัยเรื่อง  ผลของการจัดการเรียนรู้แบบCIRC ที่มีต่อความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่าความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบ  CIRC  อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะทั่วไป
1.ครูผู้สอนควรมีการศึกษาวิธีการและขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้เทคนิค CIRC  เพราะการนำวิธีการเรียนแบบร่วมมือ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักเรียน  ระยะแรกนักเรียนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการจัดการเรียนการสอน  ครูผู้สอนควรให้เวลานักเรียนได้ปรับตัวโดยการให้แรงเสริม เช่น กำลังใจ คำชมเชย รางวัล และครูควรกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนในกลุ่ม  ไม่ควรตำหนิหรือกล่าวโทษ  ส่งเสริมให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง  มีความสนุกสนานในการเรียนในระบบกลุ่ม
            2. ครูควรกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมในแต่ละขั้นให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาในการใช้เวลาเกินกำหนดและควรกำหนดเนื้อหา     ให้มีความยากง่ายคละกันเหมาะสมกับวุฒิภาวะ   และความสามารถของนักเรียน  เพราะถ้าเนื้อหาไม่เหมาะสมอาจทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายและท้อแท้ในการทำกิจกรรมอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
            3. การเรียนแบบเทคนิค  CIRC เป็นการเรียนแบบอาศัยความร่วมมือ  โดยแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกทั้งเก่งและอ่อน เพื่อให้คนเก่งได้ช่วยเหลือคนอ่อน  ดังนั้น  ครูควรเป็นผู้แบ่งกลุ่มเองเพื่อขจัดปัญหาที่นักเรียนชอบพอและสนิทสนมกันมารวมกลุ่มกัน  และครูจะต้องคอยกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนเป็นกลุ่ม  ความร่วมมือกันของสมาชิกในกลุ่มทุกคนไม่เฉพาะแต่คู่ของตนเท่านั้น
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
            1. ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ  โดยใช้เทคนิค  CIRC  เพื่อส่งเสริมความสามารถ
ในด้านการอ่านและการเขียนควบคู่กันไป
            2.ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือสำหรับนักเรียน  ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ 
เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย
            3.ควรมีการวิจัยเปรียบเทียบความสามารถในการอ่าน    โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือและวิธีการเรียนแบบอื่นๆ
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ:
              โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์. 
กระทรวงศึกษาธิการ.(2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551.กรุงเทพฯ :
             โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.    
ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์. (2553). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.กรุงเทพฯ:
            แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น.
ชุติมา  เตโชและคณะ.(2553). การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ  โดยใช้เทคนิค  
CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เรื่อง Life at home
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.
ปริญญาการศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน,มหาวิทยาลัยนเรศวร.
ทิศนา  แขมมณี. (2534). ชุดกิจกรรมการสอนและฝึกทักษะกระบวนการกลุ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 .                     กรุงเทพฯ:ภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิพนธ์  จิตภักดี.  (2528). การพัฒนาทีมงานให้มีประสิทธิภาพ.ประชาศึกษา 35(11) สิงหาคม.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542 ). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. 
กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว.
สมสมร     ทีภูเวียง.(2552). ผลของการจัดการเรียนรู้แบบ CIRC ที่มีต่อความสามารถในการ
อ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 .วิทยานิพนธ์ (ค.ม.),มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
1 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2  อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

1 ความคิดเห็น: