วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระพัฒน์พงษ์ คำมุงคุณ : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา เรื่อง มารยาทชาวพุทธ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5



บทความวิจัย : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา 
เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

พระพัฒน์พงษ์  คำมุงคุณ ¹    วิเชียร  ธำรงโสตถิสกุล ²  


การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
THE  DEVELOPMENT  PACKAGE  OF  TRISIKKA  LEARNING  ACTIVITIES  ON
BUDDHIST’S  MANNER  FOR  PRATHOMSUKSA  5  STUDENTS

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขาตามเกณฑ์ 85/85 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขาและศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยและพัฒนาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน  คือ  1)การสร้างและหาประสิทธิภาพ  2)การทดลองใช้  และ 3)การศึกษาความพึงพอใจ  กลุ่มตัวอย่างได้แก่  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2554  โรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมัน  จ. พิษณุโลก  จำนวน 1 ห้องเรียน  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้  ค่าเฉลี่ย ()  ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  และค่าสถิติ t-test แบบ Dependent
ผลการวิจัยพบว่า  1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกชุดมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 85/85  โดยชุดที่ 1  มีประสิทธิภาพ 89.41/90.00  ชุดที่ 2 มีประสิทธิภาพ 90.00/90.59  ชุดที่ 3  มีประสิทธิภาพ 87.65/88.82  และ ชุดที่ 4  มีประสิทธิภาพ 87.06/88.24  2) นักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  และ  3) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด

คำสำคัญ : ไตรสิกขา,  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้,  มารยาทชาวพุทธ


ABSTRACT
The  study  aims to  construct   a  package  of  Trisikka  learning activities  on  Buddhist’s  manner  based on  the  85/85  efficiency  standard  for contrast  the achievement  of  the  students  and  to  explore  the  satisfaction  of  Prathomsuksa  5  students  toward  learning  and  teaching  management  by  using  the  package  of  Trisikka  learning  activities  on  Buddhist ‘s  manner  for  the  Prathomsuksa  5  students
The  research  process  has  been  conducted  and  developed  through  3  stages :  1) constructing  the  package  of  Trisikka  learning  activities  on  Buddhist’s  manner  and  finding  out  its  efficiency, 2) try-out  3) studying  of  the  satisfaction  of  the  Prathomsuksa  5 students. The  study  has  been  conducted  in  the  second  term  of  the  2011  education  year  with a  classroom  from  ChomChun 1 Watsakatnamman  School  Phitsanulok  province. The  statistics  used  to  analyze  the  data  were  average () , standard  deviation (S.D.) and  t-test  independent  sample (pair)
The  package  of  Trisikka  learning  activities  on  Buddhist’s  manner  composed  with  four  particular  series  applying  with  selected  students  through  sampling  method. The  study  has  found  that  1) all  series  of  the  package  of  Trisikka  learning  activities  on  Buddhist’s  manner  were  efficient  at  89.41/90.00, 90.00/90.59,  87.65/88.82  and  87.06/88.24  meeting   the  85/85  standard ; 2) after  completing  all  series   of  the  package, the  students  achieved  a  study  better  than  before  test  is  significant  at  the  level  of .01  and  the  students  satisfaction  after  using  the  package  of  Trisikka  learning  activities  on  Buddhist’s  manner  was  rate a  very  satisfied.


บทนำ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านการขาดศีลธรรมและจริยธรรม  ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน  การไม่มีสัมมาคารวะ  เด็กมักไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่พูดด้วยถ้อยคำที่เสดงถึงความก้าวร้าว  ไม่มีหางเสียง  พูดตวาด  เด็กพบครูอาจารย์ก็ไม่แสดงความเคารพ  หรือพูดจาด้วยการขาดไมตรีจิตต่อกัน (ผกา  สัตยธรรม, 2544, หน้า 63-94)  ทั้งนี้เนื่องจาก  ปัญหาการขาดศีลธรรมและจริยธรรม  เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสอนคุณธรรม  เพราะ การสอนคุณธรรมมุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี  มีคุณธรรมที่สอนอยู่ในตัว  ด้วยเหตุนี้การสอนคุณธรรมต้องพิถีพิถันเรื่องวิธีการสอนมากเป็นพิเศษ  การสอนคุณธรรม จึงต้องมุ่งให้ผู้เรียนเกิดปัญญา (พินิจ  รัตนกุล,  2547)  ซึ่งพุทธทาสภิกขุ (พุทธทาส  อินทปัญโญ)  กล่าวถึงปัญญาในทางพระพุทธศาสนาไว้ว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน (ปัญญา)  และพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์  คือ  ต้องอาศัยหลักของเหตุผล (2541, หน้า 275-291)
  จุดมุ่งหมายในการสอนตามแนวพุทธศาสนา  ก็คือ  การสอนให้รู้จักสอนตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  โดยการปฏิบัติคุณธรรม 3 ประการ  คือ  ศีล  สมาธิ  และปัญญา  ปัญญา  คือ  ความรู้แจ้ง  รอบรู้  รู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง พุทธวิธีการสอนของพระพุทธองค์เน้นการใช้ปัญญา  คือ  การคิดใคร่ครวญ  ไตร่ตรองด้วยเหตุผล  ฝึกหัดทำบ่อยๆ  การลงมือฝึกอบรม  ลงมือปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเน้นการปฏิบัติเป็นพิเศษ  เพื่อให้รู้เท่าทันตามสภาวะความเป็นจริง  และพระพุทธองค์ทรงมีพระปรีชาญาณสามารถเลือกใช้วิธีการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลและชุมชน (ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์, 2552, หน้า 158-159)  ซึ่งพุทธวิธีของพระพุทธองค์นั้นสอดคล้องกับชุดการสอน  โดยสุนันทา  สุนทรประเสริฐ (2546, หน้า 1) ให้ความเห็นว่า  ชุดการสอนเป็นนวัตกรรมประเภทสื่อการสอนแบบประสมโดยอาศัยระบบบูรณาการสื่อหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน  และมีการใช้อย่างเป็นระบบให้ประสานกลมกลืนกันอย่างพอเหมาะ  เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการประกอบกิจกรรม  และได้รับประสบการณ์ต่างๆด้วยตนเอง  ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง  เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  และเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังรายงานผลการวิจัยของ  วิลาพัณย์  อุรบุญนวลชาติ (2549)  ได้พัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมตามแนวทางไตรสิกขา เพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  พบว่า  1) หลังเข้าร่วมโปรแกรม  นักเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมีวินัยในตนเองที่ได้จากการตอบแบบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมีวินัยในตนเอง  สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  และ 2) หลังเข้าร่วมโปรแกรม  นักเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองที่ได้จากแบบประเมินความมีวินัยในตนเองตามการรับรู้ของครู  สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05  ซึ่งสอดคล้องกับ  วนิดา  กันตะกนิษฐ์ (2551)  ได้พัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โดยการสอนแบบไตรสิกขา  ผลการศึกษาพบว่า 1) ได้แผนการสอนแบบไตรสิกขาเพื่อพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 14 แผน ที่มีประสิทธิภาพ  และ 2) นักเรียนส่วนใหญ่มีเหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับ 4 ทุกคุณลักษณะ โดยมีคุณลักษณะด้านความเสียสละสูงสุด รองลงมาคือ คุณลักษณะด้านความกตัญญูกตเวทีและคุณลักษณะด้านความซื่อสัตย์สุจริตมีค่าเท่ากัน และอิสระ  ชอนบุรี (2552)  ได้พัฒนาชุดกิจกรรมนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ผลการวิจัยพบว่า  1) ชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80  2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  3) ความพึงพอใจของนักเรียนหลังใช้ชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด
จากปัญหาความเป็นมาข้างต้น  จะเห็นได้ว่าการที่ผู้เรียนขาดคุณธรรมและจริยธรรมนั้นเป็นผลเนื่องมากจากครูผู้สอนไม่ได้สอนให้ผู้เรียนเกิดปัญญา  เนื่องจากผู้เรียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติและขาดการคิดวิเคราะห์  ดังนั้นการทำให้นักเรียนมีปัญญาได้นั้นผู้สอนต้องใช้หลักการสอนแบบไตรสิกขาทั้ง 3 ขั้น  ได้แก่   1) ขั้นสร้างศีล  2) ขั้นสร้างสมาธิ  และ 3) ขั้นสร้างปัญญา  การจัดการเรียนรู้แบบไตรสิกขามีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นอาศัยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย เพราะชุดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นมีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย  ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน  ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น

จุดมุ่งหมายของการวิจัย
1.      เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาท
ชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ตามเกณฑ์  85/85
2.      เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้
แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ก่อนเรียนและหลังเรียน
3.      เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ
ไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5

วิธีดำเนินงานวิจัย
            ในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ผู้วิจัยดำเนินการตามลักษณะของกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research  and  Development)  ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินงาน  ดังนี้
            ขั้นตอนที่  1  การสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ตามเกณฑ์ 85/85
            ในการสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ได้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้  จำนวน 4 ชุดย่อย  ได้แก่
            ชุดที่  1  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธกับสังคมไทย                      เวลา 3  ชั่วโมง
            ชุดที่  2  เรื่อง  มารยาทการไหว้แบบชาวพุทธ                       เวลา 3  ชั่วโมง
            ชุดที่  3  เรื่อง  มารยาทการกราบแบบชาวพุทธ                    เวลา 3  ชั่วโมง
            ชุดที่  4  เรื่อง  มารยาทการกราบศพแบบชาวพุทธ               เวลา 3  ชั่วโมง
            และในแต่ละชุดกิจกรรมการเรียนรู้ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา 3 ขั้นตอน คือ  1) ขั้นสร้างศีล  2) ขั้นสร้างสมาธิ  และ 3) ขั้นสร้างปัญญา  จากนั้น นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้เสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมกับปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ  เมื่อแก้ไขเสร็จนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญ  จำนวน 3 ท่าน  ตรวจสอบความเหมาะสมของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ในองค์ประกอบต่างๆของชุดกิจกรรมการเรียนรู้  แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และระดับความเหมาะสม จากนั้นทดลองชุดกิจกรรมการเรียนรู้(Try Out) กับนักเรียน 3 คนแบบรายบุคคลนักเรียน 9 คนแบบกลุ่มเล็ก  และนักเรียนจำนวน 1 ห้องเรียนภาคสนามเพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามเกณฑ์ 85/85
             ขั้นตอนที่ 2  ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5 
            ดำเนินการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  โรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมัน  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1   อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2554  จำนวน  1  ห้องเรียน  โดยทำการทดสอบก่อนเรียน (Pretest)  ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา 4 ชุด ทดลองสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง  เป็นเวลา 6  สัปดาห์  แล้วทำการทดสอบหลังเรียน (Posttest)  โดยเป็นแบบทดสอบคู่ขนานกับแบบทดสอบก่อนเรียน (Pretest)  หลังจากนั้นนำคะแนนไปวิเคราะห์โดยใช้ค่าสถิติ t-test  แบบ Dependent
            ขั้นตอนที่ 3  ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ
ไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5 
            ประเมินโดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจ  กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  โรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมัน  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1   อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2554  จำนวน  1  ห้องเรียน  หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้  แล้วนำมาวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย () และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  ดังนี้
1. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาท
ชาวพุทธ 
2.  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ  แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
และแบบประเมินความพึงพอใจ

การวิเคราะห์ข้อมูล
            ขั้นตอนที่  1  การสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ
โดยหาค่าความเหมาะสมของชุดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้วิเคราะห์โดยหาค่าเฉลี่ย  ส่วนการหาค่าประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ยร้อยละ
           ขั้นตอนที่ 2  ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  นำคะแนนการ
ทดสอบหลังเรียน (Posttest)  และก่อนเรียน (Pretest)  มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าสถิติ t-test  แบบ Dependent
           ขั้นตอนที่ 3  ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ
ไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  โดยการนำแบบประเมินความพึงพอใจที่นักเรียนได้ตอบแล้วมาวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)

สรุปผลการวิจัย
            1. ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  พบว่า  ทุกชุดมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 85/85 โดยชุดที่ 1  มีประสิทธิภาพ 89.41/90.00  ชุดที่ 2  มีประสิทธิภาพ 90.00/90.59  ชุดที่ 3  มีประสิทธิภาพ 87.65/88.82  และ ชุดที่ 4  มีประสิทธิภาพ 87.06/88.24
            2.  การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  พบว่า  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01
            3.  ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด  = 4.78

อภิปรายผล
          จากการวิจัยครั้งนี้  สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้
            1.  การสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  พบว่า  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 85/85  ทุกชุด  และการตรวจสอบความเหมาะสมของชุดกิจกรรมการเรียนรู้  มีความเหมาะสมในทุกๆด้าน  ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นผู้วิจัย  ได้ศึกษาเอกสารแนวคิดในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนแบบไตรสิกขา  ซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน  คือ  1) ขั้นสร้างศีล  2)ขั้นสร้างสมาธิ  และ 3)  ขั้นสร้างปัญญา  ที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน  พร้อมทั้งได้ศึกษากระบวนการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้  พร้อมทั้งได้ศึกษากระบวนการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวคิดหลัก  5 ประการ ของ ชัยยงค์ พรมวงศ์ (2540, หน้า 119-120) ซึ่งประกอบด้วย  ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคลแนวคิดความพยายามที่จะเปลี่ยนการสอนจากเดิมที่ยึดครูเป็นแหล่งความรู้มาเป็นการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนด้วยการใช้ความรู้จากสื่อการสอนต่าง ๆ  แนวคิดการใช้สื่อการสอนหลายอย่างมาช่วยการสอนให้เหมาะสม  แนวคิดกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์  และแนวคิดการสอนแบบโปรแกรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ไดทราบผลการตัดสินใจหรือปฏิบัติกิจกรรม ได้รับการเสริมแรง และได้เรียนรู้ทีละขั้นตอนตามความสามารถและความสนใจ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นนี้มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด
            2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ทั้งนี้เนื่องจาก  นักเรียนได้รับการเรียนรู้จากการบวนการเรียนการสอนแบบไตรสิกขา 3 ขั้นตอน  ดังนี้  1) ขั้นสร้างศีล  2) ขั้นสร้างสมาธิ  และ 3) ขั้นสร้างปัญญา  ผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับ  งานวิจัยของ  ดุษฎี  สีตลวรางค์  (2524)  ได้ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการสอนแบบไตรสิกขาและธรรมสากัจฉาในการสอนเบญจศีลและฆราวาสธรรม  ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  งานวิจัยของ สุนีย์ ผจญศิลป์ (2546) ได้ศึกษาผลการสอนแบบไตรสิกขาที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสังคมศึกษาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  และงานวิจัยของ ศิรประภา อุณหเลขกะ (2551) ได้ศึกษาผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขาต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 2  ข้อสังเกตด้านพฤติกรรมการมีมารยาทชาวพุทธในแต่ละชุด  พบว่า  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง  มารยาทชาวพุทธกับสังคมไทย  อยู่ในระดับมากที่สุด  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่  2  เรื่อง  มารยาทการไหว้แบบชาวพุทธ  อยู่ในระดับมากที่สุด  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่  3  เรื่อง  มารยาทการกราบแบบชาวพุทธ อยู่ในระดับมาก  และ ชุดที่  4  เรื่อง  มารยาทการกราบศพแบบชาวพุทธ  อยู่ในระดับมาก  ซึ่งสอดคล้องกับ  งานวิจัยของ วนิดา กันตะกนิษฐ์ (2551) ได้พัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โดยการสอนแบบไตรสิกขา 
            3.  ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่อง  มารยาทชาวพุทธ  พบว่าระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับนักเรียน  กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขาเร้าความสนใจของผู้เรียน  ทำให้เกิดความกระตือรือร้น  นอกจากนี้  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้  ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถและความสนใจ  ได้ตรวจสอบผลการปฏิบัติกิจกรรมในทันที  และได้รับการเสริมแรง จึงทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนเรื่องมารยาทชาวพุทธ  ทั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2540, หน้า 119-120) ซึ่งอธิบายถึงแนวคิดการสอนแบบโปรแกรมว่าเป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ไดทราบผลการตัดสินใจหรือปฏิบัติกิจกรรม ได้รับการเสริมแรง และได้เรียนรู้ทีละขั้นตอนตามความสามารถและความสนใจ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นนี้ในระดับมากที่สุด

ข้อเสนอแนะ
         1.  ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
                   1.1  ในการนำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้  ครูผู้สอนต้องศึกษา  คู่มือการใช้ชุดกิจกรรมให้เข้าใจถึงวิธีการในขั้นตอนต่างๆ  ประกอบการใช้ชุดฝึกให้เข้าใจก่อน  เพื่อครูจะสามารถดำเนินการสอนตามกระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และมีอุปสรรคน้อย
                   1.2  ในการดำเนินการสอนนั้นถ้าเป็นครูฝึกสอน  ควรมีครูพี่เลี้ยงคอยสังเกตการณ์ด้วย  เนื่องจากจะทำให้ผู้เรียนอยู่ในอาการที่สงบ  และมีความมุ่งมั่นในการทำงานมากขึ้น
                   1.3  ครูควรตรวจผลงานของนักเรียนทุกครั้งเมื่อทำการสอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และในการสอนครั้งต่อไป  ครูควรบอกจุดดีและข้อบกพร่องของผลงานของนักเรียน  เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม            
              2.  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
                   2.1  ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เรื่องอื่นๆในระดับชั้นอื่นในสาระการเรียนรู้ศาสนา  ศีลธรรม  จริยธรรม  โดยเฉพาะผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา  เนื่องจากผู้เรียนวัยนี้เป็นวัยรุ่นซึ่งเรียนรู้ได้ในเรื่องความคิด  หรือนามธรรม 
                   2.2  ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา   ในสาระการเรียนรู้อื่นของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม  เช่น  สาระการเรียนรู้หน้าที่พลเมือง  วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต  สาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์  และสาระการเรียนรู้เศรษฐศาสตร์  เนื่องจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขานั้น  ช่วยให้ผู้เรียนเกิดปัญญาและแยกแยะได้ว่าสิ่งใดถูก  สิ่งใดผิด                                                                                                
                   2.3  ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา  เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนในด้านอื่น  นอกจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เช่น  ส่งเสริมทักษะทางสังคม

บรรณานุกรม
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. (2540). ชุดการสอนระดับประถมศึกษา. 
            เอกสารการสอนชุดวิชาการสอน.
ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์. (2552). 80นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.
            กรุงเทพฯ: แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น.
ดุษฎี  สีตลวรางค์. (2524). การเปรียบเทียบวิธีการสอนแบบไตรสิกขาและธรรมสากัจฉา
          ในการสอนเบญจศีลและฆราวาสธรรม  ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.
            วิทยานิพนธ์ กศ.ม., กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร. 
ผกา  สัตยธรรม. (2544). คุณธรรมของครู. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พินิจ  รัตนกุล. (2547). คุณธรรม. นนทบุรี: เพชรรุ่งการพิมพ์.
พุทธทาสภิกขุ (พุทธทาส  อินทปัญโญ). (2541). คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์ (พิมพ์ครั้งที่ 3).
            กรุงเทพฯ: สุขใจ.
วิลาพัณย์  อุรบุญนวลชาติ. (2549). การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมตามแนวทาง
ไตรสิกขาเพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษา
          ปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ กศ.ม., จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วนิดา  กันตะกนิษฐ์.  (2551).  การพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้น
          ประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการสอนแบบไตรสิกขา. การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
            กศ.ม., เชียงใหม่ฯ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศิรประภา  อุณหเลขกะ. (2551). ผลการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขาต่อ
          ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 
          ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษา
          ปีที่ 6  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 2. วิทยานิพนธ์ ค.ม., กรุงเทพฯ: 
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.
สุนีย์  ผจญศิลป์. (2546). ผลการสอนแบบไตรสิกขาที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา
สังคมศึกษาและการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6.วิทยานิพนธ์ กศ.ม., มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.
สุนันทา  สุนทรประเสริฐ. (2546). การผลิตชุดการสอน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อิสระ  ชอนบุรี. (2552). การพัฒนาชุดกิจกรรมนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม
          สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4. วิทยานิพนธ์ กศ.ม., พิษณุโลกฯ:
            มหาวิทยาลัยนเรศวร.

____________________________________
¹ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  ภาควิชาการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร
² อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  ภาควิชาการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น