วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โชติมา อิ่มอินทร์ : ผลของการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น


 
บทความวิจัย : ผลของการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
                                                                                                                                                         เพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น
โชติมา  อ่ิมอินทร์ 1 และภูฟ้า  เสวกพันธ์ 2
ผลของการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
เพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น

THE EFFECTS OF USING A CARTOON ILLUSTRATION LESSONS 
IN THE ENGLISH SUBJECT FOR INCREASE STUDY ATTENTIVE BEHAVIOR 
FOR THE ATTENTION DEFICIT HYPER ACTIVITY DISORDER (ADHD) CHILD

บทคัดย่อ  

           การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเปรียบเทียบความใส่ใจต่อการเรียนในการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กสมาธิสั้นระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน ในการศึกษาครั้งนี้ ศึกษากับนักเรียนที่มีปัญหาสมาธิสั้น กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 2 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยมีเกณฑ์ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างดังนี้ 1) เป็นนักเรียนที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น 2) เป็นนักเรียนที่ได้รับการประเมินพฤติกรรมจากครูประจำชั้นหรือครูผู้สอนที่ใช้วิธีประเมินพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1.แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน 2. ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน 3.แผนการจัดการเรียนรู้การใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ 4.ชุดการสังเกตและแบบบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนแบบช่วงเวลา การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การหาค่าความถี่และค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นตลอดระยะเวลาการทดลอง 3 ระยะ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียน หาค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ (%) และนำเสนอข้อมูลในรูปตารางและแผนภูมิแท่งและกราฟเส้นประกอบคำบรรยาย
        ผลการวิจัยพบว่าเด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน และเมื่อมีการถอดถอนการสอนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน 2 สัปดาห์พบว่าพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษยังมีความคงทนอยู่


1 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  คำสำคัญ : ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ความใส่ใจต่อการเรียน เด็กสมาธิสั้น
ABSTRACT
                 The purpose of this research was to study to compare the effects of using a Cartoon illustration lessons English subject for increase study attentive behavior for the Attention Deficit Hyperactivity Disorder, (ADHD) child during the baseline period experimental period and withdrawn period. The subject were 2 ADHD child which study in Prathom Suksa 2, Semester 2 , Academic year 2011, 1. the doctoral diagnosis 2. the Conners’Teacher and  Rating Scale. The instruments were 1.Students Behavioral Assessment 2.Cartoon illustration lessons 3.lessons plan for using a Cartoon illustration lessons in the English subject. 4.the Observation Package and Behavioral Record for study attentive behavior by times period. The data analysis by frequency and mean of study attentive behavior’s ADHD child in 3 times period and compare frequency and mean . The data were presented by table , chart and detailing graph.
                The result found that ; ADHD child have increasingly study attentive behavior after using a Cartoon illustration lessons and 2 week later withdraw teaching by Cartoon illustration lessons, the study attentive behavior become to retention  behavior
 Keywords : Cartoon illustration lessons in the English lessons subject,  Attentive Behavior ,  ADHD Child
บทนำ
           ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 หมวด 2 มาตรา 10 บัญญัติไว้ว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือร่างกายพิการ หรือทุพลภาพหรือบุคคล ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ เด็กสมาธิสั้น (Attention  Deficit  Hyperactivity  Disorder  Students) ในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาของเด็กสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือในประเทศไทยก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าต่าง ๆ มากมายกว่าเมื่อในอดีต ตามสถิติพบว่าเด็กที่มีสมาธิสั้นและภาวะอยู่ไม่สุขนี้ จะมีอยู่ประมาณร้อยละ 5-10 ในห้องเรียน ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่น้อย มีปัญหาในการเรียนเช่นเดียวกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (ผดุง อารยะวิญญู. 2542,หน้า 8) มีปัญหาการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษา การอ่าน การสะกด การคัดลายมือ เขียนแล้วลบ ลบแล้ว เขียนเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วไปตามแนวหลักสูตรสถานศึกษาพุทธศักราช 2544 มุ่งเน้นที่นักเรียนปกติที่เป็นนักเรียนกลุ่มใหญ่เป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับนักเรียนที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มสมาธิสั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ
          ภาวะสมาธิสั้น(Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมที่พบได้ประมาณร้อยละ 5- 10 ของเด็กวัยเรียน โดยมีอัตราส่วนเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4 – 6 เท่าจากการสำรวจเด็กไทยในเขตกรุงเทพมหานครพบว่ามีเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 2-3 คน ในห้องเรียนขนาด 50 คนอย่างไรก็ตามปริมาณความซุกซนของภาวะสมาธิสั้นผันแปรตามเครื่องมือที่ใช้ในการวินิจฉัย(เพียงทิพย์ พรมพันธุ์, 2549) อาการหลักของโรคสมาธิสั้นมีอยู่ 3 ประการคือ อาการสมาธิสั้นหรือขาดสมาธิ (Inattention) ในบางรายเด็กสมาธิสั้นอาจจะมีอาการดื้อ ต่อต้าน เกเร ก้าวร้าว หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ แปลก ๆ ร่วมด้วย
            สมาธิสั้น ได้รับการบรรยายในวารสารการแพทย์อย่างเป็นทางการมาเกือบ100 ปีแล้ว  คือในปี ค.ศ. 1902 นายแพทย์ Still ได้บรรยายถึงเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งมีปัญหา ซนและสมาธิสั้น เขาพบว่าสาเหตุเกิดจากปัญหาทางสมองและไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1937 ได้มีการใช้ยากระตุ้นสมาธิในการรักษาโรคสมาธิสั้น จากนั้นถึงปัจจุบันโรคนี้ก็ได้รับการศึกษามากขึ้น  บางคนก็ว่าเกิดจากการกินอาหารบางชนิด  เช่นสีแต่งอาหาร น้ำตาล ฯลฯ บางคนก็ว่าเกิดจากการเลี้ยงดู บางคนก็ว่าเรื่องนี้ไม่มีจริง ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ได้ศึกษาและพบเรื่องนี้มีจริง และมีมากด้วย คำว่า โรคสมาธิสั้น ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าเด็กมีปัญหาสมาธิสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัญหาของเด็กที่เป็นโรคนี้มิใช่อยู่ที่การควบคุมสมาธิเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่การควบคุมตนเองในหลายด้าน เช่น อารมณ์ การเคลื่อนไหว ฉะนั้นเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น โรคสมาธิสั้นจึงมักมีอาการร่วมหลายอย่างนอกจากสมาธิบกพร่อง เด็กมักจะซน ใจร้อน ไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ (ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์, 2545,หน้า 3) เด็กบางรายอาจมีการพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาด้านภาษา และการพูด ปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง และในบางรายอาจมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเกิดขึ้นร่วมด้วย เด็กเป็นจำนวนมากเกิดความรู้สึกหมดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกโง่ รู้สึกเป็นคนเลว ไม่มีใครรัก มีความรันทด อมทุกข์ เก็บกด จนอาการสมาธิสั้นพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าและโรคอารมณ์แปรปรวน(Affective disorders) ต้องใช้ยาในการดำรงชีวิตเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาความรุนแรง และสร้างภัยให้กับสังคม หรืออาจไปเสพยา ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกันจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (นภัทร พุกกะณะสุต,2551)
       เด็กที่มีพฤติกรรมทางด้านสมาธิสั้นควรจะได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนอย่างถูกต้องย่อมมีความรู้ความสามารถ ที่พัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพของบุคคล ถ้าเด็กได้รับพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจสติปัญญา อารมณ์ และสังคมมีความรู้ทันตามเทคโนโลยีและการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆจากสื่อ และอุปกรณ์ต่างๆ ทันสมัย จะทำให้เด็กเหล่านี้ได้รับความรู้และพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขโดยให้มีการเรียนร่วมกับเด็กปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้(กองการศึกษาเพื่อคนพิการ, 2544, หน้า 24)
         กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษจึงกำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษขึ้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในการใช้ภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนไทย โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งนี้มีเป้าหมายพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนไปพร้อมๆกันเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทั้งชีวิตประจำวันและเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตได้อย่างแท้จริง (กรมวิชาการ,2545,หน้า1) การจัดการเรียนการสอนด้วยภาพการ์ตูน คณะนิสิตปริญญาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา (2522 ,หน้า 204) ได้รวบรวมประโยชน์ของการ์ตูนที่มีต่อการเรียนการสอนไว้ว่าภาพการ์ตูนทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาวิชามากขึ้นและช่วยในการนำเข้าสู่บทเรียนได้ง่าย ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา สนใจในการอ่านมากขึ้น ผู้เรียนมีความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี ทำให้การเรียนดีขึ้นโดยการใช้ภาพการ์ตูนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบการสอนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน เพราะการ์ตูนจะช่วยเร้าความสนใจและดึงดูดให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนและหันมาสนใจในกิจกรรมการเรียน เกิดการเรียนรู้ได้ดีเพราะมีภาพประกอบ และช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำสิ่งต่างๆในเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น และสามารถใช้การ์ตูนกับการเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้เด็กที่มีความสามารถทางการเรียนต่ำและสมาธิสั้นมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้นเพราะการ์ตูนจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจการ์ตูนช่วยผ่อนคลายอารมณ์เครียดช่วยให้เกิดความสนุกสนานและมีความต้องการที่จะศึกษาในเนื้อหาบทเรียนเพิ่มขึ้น(จินตนา ใบกาซูยี,2542)

            จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยได้ศึกษาเทคนิควิธีการสอนใหม่ ๆ และผลิตสื่อการสอนที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้จัดการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้มีพัฒนาการทางการเรียนที่ดีขึ้นสื่อการสอนนับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กสมาธิสั้น เพราะสื่อคือ ศูนย์รวมความสนใจของนักเรียน ช่วยให้บรรยากาศของการเรียนการสอนมีชีวิตชีวา นักเรียนจะได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นหลายอย่าง จากการได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัสและได้ แสดงการสอนด้วยการใช้สื่อภาพการ์ตูนเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมเนื่องจากนักเรียนส่วนมากชอบภาพการ์ตูนเพราะการ์ตูนเป็นความใฝ่ฝันของเด็ก ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จะทำให้เด็กเกิดความสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของเจนจิรา รัตนเดชาพิทักษ์ (2537, หน้า 67) กล่าวถึงความสนใจของเด็กที่มีต่อภาพการ์ตูนว่าหนังสือการ์ตูนได้รับความสนใจจากเด็กอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตามเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถเข้าใจหนังสือการ์ตูนได้จากภาพประกอบและได้รับความสนุกสนานจาการ์ตูนเช่นกัน จึงทำให้เด็กมีสมาธิเพิ่มมากขึ้นและช่วยส่งเสริมให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
            ด้วยเหตุดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยการนำภาพการ์ตูนมาใช้ในการการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาปีที่2เพื่อเสริมสร้างสมาธิของเด็กในกลุ่มที่มีพฤติกรรมสมาธิสั้นซึ่งผู้วิจัยมองเห็นว่าการใช้ภาพการ์ตูนมีความน่าสนใจที่จะทำให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและทำให้เด็กเกิดความเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้นซึ่งการสอนโดยใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อที่ช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนทำผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน ติดตามการเรียนโดยไม่เบื่อหน่าย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุชาติ หล่อนกลาง (2536,หน้า 5)กล่าวไว้ว่า การใช้ภาพการ์ตูนประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สามารถสร้างอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในการเรียนการสอน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีชีวิตชีวา เร้าความสนใจและทำให้นักเรียนประสบผลในการเรียนภาษามากขึ้นนอกจากนี้ความน่าสนใจและความสะดุดตาของภาพการ์ตูนจะสามารถทำให้นักเรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียนการสอนได้ง่าย  ซึ่งการสอนโดยใช้ภาพการ์ตูนนั้น จึงมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ทั้งทางด้านความรู้ ด้านทักษะการนำไปใช้และเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ มีสมาธิและมีทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เพิ่มพูนประสบการณ์ทางภาษาเพื่อเป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ตลอดจนสร้างเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ และคาดหวังว่าผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
 
จุดมุ่งหมายของการวิจัย
        เพื่อเปรียบเทียบความใส่ใจต่อการเรียนในการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กสมาธิสั้นระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน
วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า
         การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองเฉพาะราย (Single – subject experimental design) เรื่องผลของการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น มีขั้นตอนในการศึกษาค้นคว้าและสรุปผลการศึกษาค้นคว้า ดังนี้
 กลุ่มเป้าหมาย  
         กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 2 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยมีเกณฑ์ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างดังนี้
            1.1 เป็นนักเรียนที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น
            1.2 เป็นนักเรียนที่ได้รับการระบุจากครูประจำชั้นหรือครูผู้สอนและจากการสังเกตของผู้วิจัยว่าว่าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม ไม่สนใจเรียน ไม่ฟังครูสอน ลุกจากที่ ชวนเพื่อนคุย ซึ่งได้จากแบบประเมินพฤติกรรมของ (Conners’ Teacher and Rating Scale)
 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
            1. แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียนโดยอาจารย์ประจำชั้น Conners’ Teacher and  Rating Scale เป็นเครื่องมือที่นำมาจาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตังสมบัติ มีทั้งหมด 28 ข้อ นำมาใช้ประเมินพฤติกรรมสมาธิสั้นของนักเรียน
              2.  ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนสำหรับเด็กสมาธิสั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
              3.  แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจสำหรับเด็กสมาธิสั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 32 แผน ดังนี้
                        ระยะเส้นฐาน
                   3.1 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่    1 - 4   เรื่อง The Alphabets
                        3.2 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่    5 - 8   เรื่อง My body
                        ระยะทดลอง
                        3.3 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่    9 - 11 เรื่อง My Classroom
                        3.4 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่  12 - 14 เรื่อง Food and Beverage
                        3.5 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่  15 - 17 เรื่อง Fruits
                        3.6 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 18- 20 เรื่อง Clothing and accessories
                       3.7 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่  21 - 24 เรื่อง  Animal
                        ระยะถอดถอน
                       3.8 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 25 - 27 เรื่อง Days of the week
                       3.9 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 28 - 29 เรื่อง Months of the year
                       3.10 แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 30 – 32 เรื่อง colors
              4.  ชุดการสังเกตและแบบบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนแบบช่วงเวลา
 การดำเนินการทดลอง
           การวิจัยครั้งนี้ทำการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคลโดยผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนการทดลองโดยคัดกรองเด็กสมาธิสั้นด้วยแบบประเมินพฤติกรรมนักเรียน โดยอาจารย์ประจำชั้น  Conners’ Teacher and Rating Scale และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยเลือกวันและเวลาในการทดลองเป็นช่วงเวลา ได้แก่ วันจันทร์ (เช้า) 1 ชั่วโมง วันอังคาร (เช้า) 1 ชั่วโมง วันพุธ (เช้า) 1 ชั่วโมง วันพฤหัสบดี (เช้า) 1 ชั่วโมง รวมระยะในการทดลองทั้งหมด 8 สัปดาห์ๆละ4 ครั้งๆละ 60นาที จำนวน 32 ครั้ง และแบ่งการทดลองเป็น 3 ระยะดังนี้คือ
            ระยะที่ 1 ระยะเส้นฐาน (Base line) เป็นระยะที่ผู้วิจัยสังเกตและบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น ลงในแบบบันทึกช่วงเวลาโดยไม่ใช้การสอนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ระยะนี้ผู้วิจัยสอนวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้แบบเรียนปกติ (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 1-8) เป็นระยะเวลาติดต่อกันทั้งหมดเป็นเวลาจำนวน 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 60 นาที จำนวน 8 ครั้ง
            ระยะที่ 2 ระยะทดลอง (Treatment) ระยะนี้ปรับพฤติกรรมโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ที่ 9-24) โดยใช้เวลาในการสอนจำนวน 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 60 นาที จำนวน 16 ครั้ง ผู้วิจัยสังเกตและบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นในขณะที่ครูสอนโดยใช้แบบบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนแบบช่วงเวลา ในช่วงเวลาการปรับพฤติกรรม
            ระยะที่ 3 ระยะถอดถอน (Wilthdrawal) เป็นระยะหยุดการปรับพฤติกรรมการเรียนด้วยภาพการ์ตูนโดยผู้วิจัยสอนวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้แบบเรียนปกติ (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25- 32)ผู้วิจัยบันทึกเวลาการเกิดความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น โดยใช้แบบบันทึกพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนแบบช่วงเวลา ใช้เวลา 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 60 นาที จำนวน 8 ครั้งในการทดลองครั้งนี้เป็นการตกลงการปรับพฤติกรรมระหว่างผู้วิจัยกับเด็กสมาธิสั้นจำนวน 2 คน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างระหว่างเด็กสมาธิสั้นกับนักเรียนคนอื่นในชั้นเรียน ครูประจำชั้นจะเป็นผู้ปรับพฤติกรรมร่วมกับผู้วิจัยด้วย โดยครูประจำชั้นได้ชี้แจงกับนักเรียนทุกคนว่าจะมีการทดลองปรับพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนในชั้นเรียนซึ่งจะมีผู้วิจัยเข้ามาสังเกตพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนร่วมกับครูประจำชั้น
แบบแผนการทดลอง
            เป็นการวิจัยเชิงทดลองเฉพาะราย (Single – subject experimental design)
การวิเคราะห์ข้อมูล
              ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
              ส่วนที่ 1 วิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น โดยใช้เวลาการเกิดความใส่ใจต่อการเรียนในระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน โดยแสดงค่าความถี่ ค่าเฉลี่ยความถี่และร้อยละ
              ส่วนที่ 2 วิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนในการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กสมาธิสั้นระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน
สรุปผลการวิจัย
          ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
              1. ผลการวิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น โดยใช้เวลาการเกิดความใส่ใจต่อการเรียนระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน โดยแสดงค่าความถี่ ค่าเฉลี่ยความถี่และร้อยละ
            เด็กสมาธิสั้นคนที่ 1
            ระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) พบว่าพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 95 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 11.88 ครั้ง
             ระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9 – 24) ความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนของเด็กสมาธิสั้นพบว่าความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 16 ครั้ง รวมความถี่เป็น 294 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 18.38 ครั้ง
          ระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25 – 32) ความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษใน ของเด็กสมาธิสั้นนั้น พบว่าความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 134 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 16.75 ครั้ง
             สรุปพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นพบว่าระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ค่าความถี่รวม 95 ครั้ง ค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 11.80 ครั้ง และในระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9-24) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ค่าความถี่รวมคือ 294 ครั้ง ค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 18.38 ครั้ง และระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25-32) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนค่าความถี่รวม 134 ครั้งค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 16.75 ครั้ง ซึ่งในระยะถอดถอนความใส่ใจต่อการเรียนลดลงแต่มีค่าความถี่สูงกว่าในระดับเส้นฐานที่ 4.95
 เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2
          ระยะเส้นฐาน  (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) พบว่าพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ของเด็กสมาธิสั้นนั้นความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 99 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 12.38 ครั้ง
          ระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9 – 24) ความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ของเด็กสมาธิสั้นพบว่าความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 16 ครั้ง รวมความถี่เป็นเวลา 300ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 18.75 ครั้ง
            ระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25 – 32) ความใส่ใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ของเด็กสมาธิสั้นนั้น พบว่าความใส่ใจต่อการเรียนจากการสังเกตจำนวน 8 ครั้ง รวมความถี่เป็นเวลา 136ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจเป็นเวลา 17.00 ครั้ง
            สรุปพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นพบว่าระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ค่าความถี่รวม 99 ครั้ง ค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 12.38 ครั้ง และในระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9-24) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ค่าความถี่รวมคือ 300 ครั้ง ค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 18.75 ครั้ง และระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25-32) เป็นระยะที่สังเกตพฤติกรรมโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนค่าความถี่รวม 136 ครั้งค่าเฉลี่ยความถี่สูงสุดอยู่ในระดับ 17.00 ครั้ง ซึ่งในระยะถอดถอนความใส่ใจต่อการเรียนลดลงแต่มีค่าความถี่สูงกว่าในระดับเส้นฐานที่ 6.37
                   
          2.ผลการวิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนในการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กสมาธิสั้นระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน
        
          เด็กสมาธิสั้นคนที่ 1 พบว่า
             ระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) เป็นระยะที่ใช้แผนการเรียนปกติ ความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 34 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 42.50 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 4.25
            ระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9-24) เป็นระยะที่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 129 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.60 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 8.06
            ระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25-32) เป็นระยะที่กลับมาใช้แผนการเรียนปกติความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานและแบบฝึกหัด มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด คะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 59 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 73.80 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานและแบบฝึกหัด 7.38
เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2 พบว่า
          ระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 1-8) เป็นระยะที่ใช้แผนการเรียนปกติ ความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดใน ของเด็กสมาธิสั้น มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 32 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 40.00 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 4.00
             ระยะทดลอง (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 9-24) เป็นระยะที่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดในแผนการสอนที่ 9-24 ของเด็กสมาธิสั้นทั้ง 2 คนมีดังนี้
            มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 129 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 80.60 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 8.06 มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 131 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 81.90 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 8.19
             ระยะถอดถอน (แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ 25-32) เป็นระยะที่กลับมาใช้แผนการเรียนปกติความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานและแบบฝึกหัด มีความใส่ใจต่อการเรียนจากการทำใบงานและแบบฝึกหัดคะแนนเต็ม 10 คะแนนรวม 61 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 76.30 โดยมีค่าเฉลี่ยของความใส่ใจจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัด 7.63 อภิปรายผล
          การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ศึกษาผลของการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนสำหรับเด็กสมาธิสั้น โดยมีสมมติฐานว่า เด็กสมาธิสั้นมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน
          1.ผลการวิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นโดยใช้เวลาการเกิดความใส่ใจต่อการเรียนระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอนผลการศึกษาพบว่า เด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
              1.1 ระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 1-8)หรือก่อนการทดลองด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน เด็กสมาธิสั้นคนที่ 1 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 11.88 ครั้ง จากการสังเกต 8 ครั้งรวมความถี่เป็น 95 ครั้ง เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 12.38 ครั้ง จากการสังเกต 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 99 ครั้ง ต่อการเรียนที่ใช้เวลา 60 นาที ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น้อย ซึ่งสอดคล้องกับ ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์,2545, หน้า 3 ที่กล่าวถึงเด็กสมาธิสั้นว่า เด็กที่มีปัญหาเช่นนี้เมื่ออยู่ในห้องเรียนมักจะไม่เริ่มทำงานที่ครูให้ทำ ดูเหมือนไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน ไม่ฟังคำพูดของพ่อแม่ ไม่ใส่ใจในรายละเอียด ประมาท เลินเล่อ ไม่ค่อยระมัดระวัง เล่นหรือทำกิจกรรมใดได้ไม่นาน มักทำอะไรไม่เสร็จเพราะว่าลืมหรือว่าไม่ใส่ใจ มักหลีกเลี่ยงไม่ชอบหรือไม่อยากทำงานที่ต้องใช้สมาธินาน เช่น ทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัด วอกแวกตามสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย
             1.2 ระยะทดลอง (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 9-24)เด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น เด็กสมาธิสั้นคนที่ 1 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 18.38 ครั้ง จาการสังเกต 16 ครั้ง รวมความถี่เป็น 294 ครั้ง เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 18.75 ครั้ง จากการสังเกต 16 ครั้ง รวมความถี่เป็นเวลา 300 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาการใส่ใจต่อการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเด็กมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้นมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมายและสามารถทำงานเสร็จทันเวลา จะเห็นได้ว่าการสอนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เนื้อหาวิชา สามารถนำการ์ตูนมาเป็นสื่อ ดังเช่น สมหญิง กลั่นศิริ,2521, หน้า 74 ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนการสอนด้วยภาพการ์ตูน ไว้ว่า การ์ตูนช่วยส่งเสริมการสอนของครู ช่วยให้บทเรียนน่าสนใจและทำให้ผู้เรียนเรียนโดยไม่น่าเบื่อหน่าย  และการ์ตูนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนเร็วยิ่งขึ้น เพราะการ์ตูนช่วยสื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจได้เร็วยิ่งขึ้น และยังทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ สนุกสนานและติดตามการสอนของครูโดยตลอด
            1.3 ระยะถอดถอน (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 25-32) เด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น คนที่ 1 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 16.75 ครั้ง จากการสังเกต 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 134 ครั้ง เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2 มีค่าเฉลี่ยความถี่ของความใส่ใจต่อการเรียนเป็นเวลา 17.00 ครั้ง จากการสังเกต 8 ครั้ง รวมความถี่เป็น 136 ครั้ง ซึ่งเด็กทั้งสองคนมีความใส่ใจต่อการเรียนลดลงจากระยะทดลองแต่ยังคงมีความใส่ใจต่อการเรียนสูงกว่าในระยะเส้นฐานซึ่งถือว่าการสอนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนส่งผลให้เกิดความคงทนของพฤติกรรมความใส่ใจต่อการของเด็กสมาธิสั้น
       2.ผลการวิเคราะห์ความใส่ใจต่อการเรียนในการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กสมาธิสั้นระหว่างระยะเส้นฐาน ระยะทดลองและระยะถอดถอน พบว่าเด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนจากการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนจากการทำใบงาน หรือแบบฝึกหัดพบว่า
                   1.1 ระยะเส้นฐาน (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 1-8) เป็นระยะที่สอนโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นคนที่ 1คิดเป็นร้อยละ42.50 และคนที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 40.00
                 1.2 ระยะทดลอง (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 9-24) เป็นระยะที่สอนโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นคนที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 80.60 คนที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 81.90 จากการสอนโดยใช้ภาพการ์ตูนเด็กมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้น ทำงานเสร็จทันเวลา ไม่ลุกจากที่ ซึ่งสอดคล้องกับ (จินตนา ใบกาซูยี,2542) การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบการสอนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน เพราะการ์ตูนจะช่วยเร้าความสนใจและดึงดูดให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนและหันมาสนใจในกิจกรรมการเรียน เกิดการเรียนรู้ได้ดีเพราะมีภาพประกอบ และช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำสิ่งต่างๆในเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น และ สามารถใช้การ์ตูนกับการเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้เด็กที่มีความสามารถทางการเรียนต่ำและสมาธิสั้นมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้นเพราะการ์ตูนจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจการ์ตูนช่วยผ่อนคลายอารมณ์เครียดช่วยให้เกิดความสนุกสนานและมีความต้องการที่จะศึกษาในเนื้อหาบทเรียนเพิ่มขึ้น
            1.3 ระยะถอดถอน (แผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ 25-32) เป็นระยะที่กลับมาสอนโดยไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนจากการทำใบงานหรือแบบฝึกหัดความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นคนที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 73.80 เด็กสมาธิสั้นคนที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 76.30 ความใส่ใจต่อการเรียนลดลงจากระยะทดลองแต่มีความใส่ใจและความคงทนเพิ่มขึ้นมากว่าระยะเส้นฐานซึ่งไม่ใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน
           จากผลการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การสอนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเนื่องจากการ์ตูนมีลักษณะที่น่าสนใจซึ่งสอดคล้องกับ คณะนิสิตปริญญาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา,2522, หน้า 204) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการ์ตูนที่มีต่อการเรียนการสอน กล่าวคือ ภาพการ์ตูนทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาวิชามากขึ้นและใช้สอนเด็กเป็นรายบุคคลการ์ตูนทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาวิชามากขึ้น สนใจในการอ่านเพิ่มขึ้นและเป็นสื่อที่ช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียน ทำให้ผู้เรียนมีความสนุกสนาน และยังผ่อนคลายความตึงเครียดในการเรียนการสอนด้วย ช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี โดยใช้รูปภาพการ์ตูนและทำให้เกิดความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นในระยะทดลอง เด็กมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดี และส่งผลให้เด็กมีสมาธิในการเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ รดาธร นิลลออ (2548) ได้ศึกษาผลของโปรแกรมการปรับพฤติกรรมการชี้แนะด้วยภาพเพื่อลดพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนของเด็กสมาธิสั้น ผลการวิจัยพบว่า การใช้โปรแกรมการปรับพฤติกรรมโดยการชี้แนะด้วยภาพสามารถลดพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนของเด็กสมาธิสั้นได้
ข้อเสนอแนะ
            จากผลการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ ผลการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนสำหรับเด็กสมาธิสั้นผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
          1.ข้อเสนอแนะทั่วไป
            1.1 จากการทดลองพบว่าแผนการสอนในระยะทดลองทีเรียนด้วยภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนสามารถช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีความใส่ใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้น สมารถทำงานเสร็จทันเวลา ตั้งใจฟังครูสอน ไม่ลุกจากที่ ดังนั้นการนำภาพการ์ตูนมาประกอบคำศัพท์จะทำให้เด็กมีความใส่ใจต่อการเรียนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
              1.2 ควรมารจัดสภาพแวดล้อมที่ลดสิ่งรบกวนจากภานอก และให้มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับลักษณะของเด็กสมาธิสั้น เช่นไม่ควรมีอุปกรณ์ของเล่นอื่นๆ อยู่บริเวณใกล้ๆหรือห้องเรียนที่ทำกิจกรรมไม่ควรมีรถวิ่งผ่าน หรือห้องเรียนไม่ควรมีหน้าต่างที่มองเห็นนักเรียนชั้นอื่น เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมีความสนใจกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายส่งผลให้เด็กสมาธิสั้นไม่สนใจในกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนหันไปสนใจสิ่งเร้ารอบตัวแทน
            2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
             2.1 ควรมีการศึกษาถึงกิจกรรมการสอนต่างๆ เช่น การเล่นเกมส์ การเล่านิทาน การทำหนังสือเล่มเล็ก เพื่อนำมาประกอบบทเรียน ที่ส่งผลในการเพิ่มพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กสมาธิสั้นต่อไป
               2.2 เนื่องจากในการศึกษาครั้งนี้ ศึกษาเรื่องพฤติกรรมความใส่ใจต่อการเรียนของเด็กสมาธิสั้นเมื่อใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียน ในการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
               2.3 ควรมีการศึกษาการใช้ภาพการใช้ภาพการ์ตูนประกอบบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความใส่ใจต่อการเรียนสำหรับเด็กพิเศษประเภทต่างๆ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

1 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บรรณานุกรม

กรมวิชาการ.  (2545).  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
          (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545. 
            กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์อักษรไทย.
กองการศึกษาเพื่อคนพิการ.  (2544).  คู่มือการจัดการเรียนร่วม. กรุงเทพฯ : กองพัสดุและ
            อุปกรณ์การศึกษา กรมสามัญศึกษา.  24.
คณะนิสิตปริญญาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา. (2522). นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการ
          ศึกษา. กรุงเทพ :  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร : 204
จินตนา  ใบกาซูยี.  (2534).  แนวการจัดทำหนังสือสำหรับเด็ก การส่งเสริมและพัฒนาหนังสือ
          การ์ตูนไทย.  ศูนย์พัฒนาหนังสือกรมวิชาการ.
จินตนา  ใบกาซูยี.  (2542).  การเขียนสื่อการเรียนการสอน.  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น มปป.
เจนจิรา  รัตนเดชาพิทักษ์.  (2537).  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมในภาพในหนังสือการ์ตูน
          กับพื้นฐานวัฒนธรรมที่มี่ความเข้าใจในการอ่านของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. 
            วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธีรเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์.  (2545).  เพื่อความเข้าใจเด็กสมาธิสั้น/ซน สำหรับผู้ปกครอง
          และครู.   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.
นภัทร  พุกกะณะสุต.  (2551).  สมาธิสั้นหายได้ไม่ยาก.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ผดุง  อารยะวิญญู.  (2542).  เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม.  กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์แว่น
           แก้ว.
ผดุง  อารยะวิญญู.  (2544).  วิธีสอนเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น.  กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์แว่น
            แก้ว.
พัชรีวัลย์  เกตุแก่นจันทร์.  (2541).  เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น.  กรุงเทพฯ : พี.เอ.อาร์ต และพริ้นติ้ง.
เพียงทิพย์  พรมพันธุ์.  (2550).  เด็กสมาธิสั้น.  กรุงเทพฯ : ฟอร์ไชล์ด.
รดาธร  นิลลออ.  (2548).  ผลของการใช้โปรแกรมการปรับพฤติกรรมโดยการชี้แนะด้วย
          ภาพเพื่อลดพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนของเด็กสมาธิสั้น.  สารนิพนธ์ปริญญาศึกษา
            ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
           ศิลปากร.
วินัดดา  ปิยะศิลป์.  (2550).  ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : ชมรม
            จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
สมหญิง  กลั่นศิริ.  (2521).  โสตทัศนศึกษาเบื้องต้น.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษา       
           ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุชาติ  หล่อนกลาง.  (2536).  การเปรียบเทียบความสามารถด้านทักษะการฟัง การพูด
          และความสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่
          ได้รับการสอนตามแนว ทฤษฎีธรรมชาติโดยใช้การ์ตูนกับการสอนโดยใช้คู่มือครู.
            วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ทรวิโรฒประสานมิตร.


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น