วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วรางคณา พิชญ์สังคม : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


บทความวิจัย:การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ
                                                                                                                            ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ
                                                                                                                                      กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 
                                                                                                                                       สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
                                                                                                                             วรางคณา  พิชญ์สังคม1 อังคณา  อ่อนธานี2



การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ
ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

THE DEVELOPMENT OF INSTRUCTIONAL PACKAGE  FOR  PROMOTE  READING COMPREHENSION IN LEARNING  AREA OF FOREIGN LANGUAGE BY USING COOPERATIVE LEARNING FOR  PRATHOMSUKSA 6 STUDENT



บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามเกณฑ์75/75 เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6ตามเกณฑ์ 75/75 ผู้วิจัยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน ตรวจสอบความเหมาะสมในองค์ประกอบต่างๆของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือแล้วนำไปหาประสิทธิภาพกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6 จำนวน 1 ห้องเรียน 31 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์หาค่าประสิทธิภาพโดยใช้สูตร E1/ E2

ขั้นตอนที่ 2 การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม นำไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนรวมไทยพัฒนา1 จำนวน 30 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การทดสอบค่าที (t – test dependent)

ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


 ผลการวิจัย มีดังนี้                                                                                                          

            1. ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ     กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.10 / 76.24
            2. นักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01  
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียน   ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับมาก

คำสำคัญ : ชุดกิจกรรม, การเรียนแบบร่วมมือ, การอ่านจับใจความ



ABSTRACT

The purpose of this research were to construct and identify the efficiency instructional package for promote reading comprehension in learning area of foreign language by using cooperative learning for prathomsuksa 6 students, following  criteria  at 75/75,  to compare  the  ability about  reading comprehension before and after learning  with instructional package and to study  the students ’s  satisfaction towards learning by using the instructional package .The research procedure comprised of 3 steps were as follow :

The first step was  to construct instructional package handbook and activities for students, and then inspected its quality by 5 experts to examine the appropriation. Take the instructional package to experiment in prathomsuksa 6. The data were analyzed by the analysis of mean,standard deviation and E1/E2.

The second step was to compare the ability about  reading comprehension before and after learning with instructional package. The  sample  was  30 students in prathomsuksa 6/1, Ruamthaiphatthana 1 School, 2 nd Semester ,and  Academic year 2011. The statistics used  for analyzing was  t – test dependent.

The third step was to study  the students ’s satisfaction towards the instructional package by using was the evaluation form  for students ’s satisfaction towards learning. The statistics used for analyzing the data  were  mean and  standard deviation.

  Research  finding were as follows :

1. The appropriateness of the  instructional package at the high level. The efficiency value was define at 77.10 / 76.24.

            2. The post-test of reading comprehension through the developed instructional package were higher than  pre-test  at  .01 level of significance.                                  

            3. The students have a high level of satisfaction towards instructional package   for promote reading comprehension in learning area of foreign language by using cooperative learning for prathomsuksa 6 students.

Keywords : Instructional package, cooperative learning, reading  comprehension

บทนำ

            หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551(กระทรวงศึกษาธิการ,2551,หน้า 220) ได้กำหนดให้สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นสาระการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ มุ่งเน้นด้านความรู้ ความสามารถ คุณธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการรายวิชาและการอ่าน สามารถตีความจากเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อต่างๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ การเรียนภาษาอังกฤษสำหรับประเทศที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ทักษะที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ทักษะการอ่านเพราะต้องใช้ทักษะนี้ในการแสวงหาความรู้ช่วยเสริมสร้างความคิดและประสบการณ์ อีกทั้งนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของตนเอง

จากรายงานผลการทดสอบระดับชาติ (ONET) ปี พ.ศ.2553 พบว่า คะแนนวิชาภาษาอังกฤษระดับ     ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนเฉลี่ย 14.38 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับปีพ.ศ.2552 แล้วพบว่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 5.62 คะแนน (สำนักทดสอบทางการศึกษา,2553) จากการวิเคราะห์การตอบคำถามและคะแนนสอบแล้ว พบว่าผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ในเรื่องที่อ่าน  ผู้เรียนไม่มีทักษะในการจับประเด็น สอดคล้องกับปัญหาที่พบในการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ คือ ผู้เรียนมีปัญหาในเรื่องการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ ผู้สอนมีรูปแบบวิธีการสอนแบบบรรยายตามหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่หลากหลาย พบว่า ชุดกิจกรรมเป็นนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมในการแก้ปัญหานี้

ชุดกิจกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีการจัดไว้อย่างเป็นระบบเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของวิชา เป็นแนวทางการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งจากการศึกษาพบว่า มีงานวิจัยที่ทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในเรื่องการอ่าน โดยการให้ผู้เรียนช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ในห้องเรียน ผู้เรียนมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน รูปแบบการสอนนี้ เรียกว่า  การเรียนแบบร่วมมือ

รูปแบบการเรียนแบบร่วมมือ เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกัน โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกประสบความสำเร็จ(ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์,หน้า182) การจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนแบบร่วมมือ สามารถทำได้หลากหลายวิธีซึ่งมีเทคนิควิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของผู้เรียน ซึ่งผู้วิจัยเลือกนำเทคนิค CIRC มาใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นกลุ่ม  ผู้เรียนมีการช่วยเหลือกัน  ผู้เรียนที่เก่งจะช่วยเหลือเพื่อน ทำให้เพื่อนมีโอกาสพัฒนาความสามารถในการอ่าน  การอ่านในสิ่งที่ผู้เรียนมีความคุ้นเคย จะช่วยให้ผู้เรียนอ่านแล้วสามารถระบุใจความและระบุประเด็นสำคัญได้ อีกทั้งผู้วิจัยได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิค CIRC เช่น ชุติมา  เตโชและคณะ(2553) ได้ทำวิจัย เรื่องการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้เทคนิค CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เรื่อง Life at home กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนัยนา  จินตาวงศ์(2550) ได้ทำวิจัย เรื่องการพัฒนาการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้วิธี ซี ไอ อาร์ ซี จากการสังเคราะห์งานวิจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค CIRC ทำให้ผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษได้มากขึ้นส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษดีขึ้น                

              จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือโดยการนำเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดตากมาให้ผู้เรียนได้ฝึกอ่านและเรียนรู้ การนำเรื่องราวที่ผู้เรียนรู้จักมาให้อ่านจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียน มีความสนใจในการเรียน อยากรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดของตนเอง ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น ซึ่งชุดกิจกรรมประกอบด้วยเรื่องราวจำนวน 6 เรื่อง คือ น้ำตกทีลอซู  น้ำตกพาเจริญ ถ้ำแม่อุสุ น้ำตกลานสาง เขื่อนภูมิพลและวนอุทยานไม้กลายเป็นหิน  ชุดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน  สามารถเรียนรู้ได้เองโดยผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันหรือรายบุคคลทำให้ผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น


จุดมุ่งหมายของการวิจัย

1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ตามเกณฑ์ 75/75

2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


วิธีดำเนินงานวิจัย

                ในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในครั้งนี้เป็นลักษณะ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 สร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามเกณฑ์ 75/75

ในการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยได้ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ คู่มือครู   หนังสือและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และนำชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สร้างขึ้นจำนวน 6 ชุดกิจกรรมไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข จากนั้นนำเสนอผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมขององค์ประกอบของชุดกิจกรรม และได้ปรับปรุงชุดกิจกรรมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แล้วจึงนำชุดกิจกรรมไปทดลองใช้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนรวมไทยพัฒนา 2 อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต  2 ใน 3 แบบ คือ การทดลองแบบเดี่ยวกับนักเรียนจำนวน 3 คน เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไข และนำไปทดลองแบบกลุ่มกับนักเรียนจำนวน 9 คน จากนั้นทำการทดลองแบบภาคสนามกับนักเรียนจำนวน 1 ห้องเรียน 31 คน  เพื่อหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75   

ขั้นตอนที่ 2 เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียน และหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ผู้วิจัยได้นำชุดกิจกรรมไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 30 คน ใน      ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนรวมไทยพัฒนา1 อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ทำการทดสอบก่อนเรียน ดำเนินการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม จำนวน 12  ชั่วโมง และเมื่อเรียนจบทุกเรื่องแล้วประเมินหลังเรียนโดยใช้            แบบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความ(ชุดเดียวกันกับก่อนเรียน)จำนวน 33 ข้อ               คะแนนเต็ม 36 คะแนน

ขั้นตอนที่ 3  ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

            การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรม หลังเสร็จสิ้นการใช้ชุดกิจกรรมแล้ว ผู้วิจัยได้แจกแบบประเมินความพึงพอใจให้กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างตอบแบบประเมิน แล้วนำมาตรวจความสมบูรณ์เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล


เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

1.      ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.10 / 76.24

2.      แบบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความ

3.      แบบประเมินความพึงพอใจ


การวิเคราะห์ข้อมูล

ขั้นตอนที่ 1 สร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามเกณฑ์ 75/75 ผู้วิจัยหาค่าความเหมาะสมของชุดกิจกรรมโดยการหาค่าเฉลี่ยและ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่า E1 / E2

ขั้นตอนที่ 2 เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียน และหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยการทดสอบค่าที ( t-test แบบ dependent)

          ขั้นตอนที่ 3  ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำค่าเฉลี่ยไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์และแปลผล

สรุปผลการวิจัย

1. ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.10 / 76.24 

2. นักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

            3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

อภิปรายผล

จากผลการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้วิจัยได้นำประเด็นสำคัญที่ค้นพบมาอภิปรายโดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยได้ดังนี้

            1.ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ชุดกิจกรรมมีจำนวนทั้งหมด 6 ชุดกิจกรรมซึ่งแต่ละชุดกิจกรรมใช้รูปแบบการเรียนแบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค CIRC เข้ามาจัดการเรียนการสอนเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ Slavin (อ้างอิงใน ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์,2553, หน้า 182) ที่กล่าวว่า เทคนิค CIRC   เป็นเทคนิคการเรียนที่แบ่งกลุ่มผู้เรียนตามระดับความสามารถ ซึ่งในกลุ่มจะประกอบด้วยนักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านแตกต่างกัน กิจกรรมมีการฝึกเป็นทีม  ฝึกเป็นรายบุคคล  มีการประเมินผลโดยเพื่อน  การฝึกเพิ่มเติมและการทดสอบ มีการจัดระบบการให้รางวัลแก่ทีมที่ทำกิจกรรมบรรลุเป้าหมายโดยการประเมินผลการเรียนของสมาชิกทุกคน ในทีม มีการเพิ่มโอกาสและเวลาการฝึกการอ่านการเขียนมากขึ้นผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อนำไปหาประสิทธิภาพแบบกลุ่มและภาคสนาม พบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.10 / 76.24  เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการสร้างชุดกิจกรรมจนเข้าใจเป็นอย่างดี ทำให้ชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นมีองค์ประกอบที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของชุติมา เตโชและคณะ(2553) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้เทคนิค CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจเรื่อง Life at home กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผลการประเมิน พบว่า ชุดกิจกรรมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อนำไปหาประสิทธิภาพ พบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.06/77.41และแต่ละชุดมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 75/75   

            2. ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีความสามารถในการอ่านจับใจความหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้วิจัยได้สร้างชุดกิจกรรมด้วยกระบวนการที่ดี ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อนักเรียนได้เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ นักเรียนได้สรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความสนใจและทำความเข้าใจกับเนื้อหาของบทเรียน สามารถรับรู้และทำความเข้าใจได้ดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ นักเรียนใช้ความคิดในแง่มุมต่างๆ ตามลักษณะของคำถาม ซึ่งนักเรียนจะเข้าใจบทเรียนรวมทั้งจับใจความได้ จึงทำให้นักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของพรทิพย์  ตรีสกุลวงษ์(2544, หน้า 56)ได้กล่าวถึงการสอนอ่านจับใจความสำคัญไว้ว่า การที่จะสามารถอ่านและจับใจความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายประการ ครูผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนต้องวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านหลักการและจิตวิทยาในการอ่าน หลักการสอน เทคนิคในการจัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงความสามารถและความสนใจของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีพัฒนาการด้านการคิด  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ชุติมา เตโช และคณะ (2553) ได้พัฒนา ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เรื่อง  Life at home กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากการวิจัยพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 และสอดคล้องกับงานวิจัยของสมสมร  ทีภูเวียง (2552) ได้วิจัยเรื่อง ผลของการจัดการเรียนรู้แบบ CIRC ที่มีต่อความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้แบบ CIRC มีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และสอดคล้องกับงานวิจัยของ Slavin et  al,(1987)ได้ทดลองใช้โปรแกรม CIRC ในการสอนอ่านและเขียนกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ที่มีความสามารถแตกต่างกัน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่ทำกิจกรรมอยู่ในกลุ่ม CIRC มีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและการเขียนดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ 

            3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือที่ส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า มีความพึงพอใจใน ระดับมาก          

ซึ่งกล่าวได้ว่านอกจากชุดกิจกรรมจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความแล้วยังช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้มากขึ้น พิจารณาได้จากการมีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข ปฏิบัติกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ด้วยความเต็มใจและรับผิดชอบ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสมสมร  ทีภูเวียง (2552) ได้วิจัยเรื่อง ผลของการจัด      การเรียนรู้แบบ CIRC ที่มีต่อความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ CIRC อยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สื่อที่เร้าความสนใจ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่นักเรียนรู้จักสามารถนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

ข้อเสนอแนะ

          ข้อเสนอแนะทั่วไป

1. ในการนำชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนนั้น ครูควรศึกษาคู่มือครูสำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือให้ละเอียด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียน

2.  ชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือนี้ นักเรียนสามารถศึกษาเองได้ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนได้ชัดเจน มีความแปลกใหม่ มีความรู้ในเนื้อหาวิชาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงควรจะสนับสนุนให้นำชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

3.  เนื้อหาของชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ควรเป็นเรื่องที่นักเรียนมีประสบการณ์หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมของนักเรียน

            ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย 

1. ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้
                   2. ควรมีการทำวิจัยโดยใช้เรื่องราวในท้องถิ่นที่ผู้เรียนอาศัยอยู่
                   3. ควรมีการวิจัยเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความโดยใช้ชุดกิจกรรม   การเรียนแบบร่วมมือในเทคนิคต่างๆ เช่น STAD, TGT, Jigsaw เป็นต้น
  บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ.

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2553). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.    กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชัน.

ชุติมา เตโช และคณะ. (2553). การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้เทคนิค CIRC ที่ส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ เรื่อง Life at home      กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.     ปริญญานิพนธ์  กศ.ม. (หลักสูตรและการสอน). มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก.

นัยนา จินตาวงศ์. (2550). การพัฒนาการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาอังกฤษของนักเรียน     ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้วิธี ซี ไอ อาร์ ซี. ปริญญานิพนธ์  ศษ.ม.              สาขาวิชาประถมศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พรทิพย์  ตรีสกุลวงษ์. (2544). การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็น  

            ศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านจับใจความสำคัญภาไทย สำหรับผู้เรียนชั้น 

             ประถมศึกษาปีที่ 4  กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านโคกตะเคียน  อำเภอกาบเชิง         

            จังหวัดสุรินทร์.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สมสมร ทีภูเวียง. (2552). ผลของการจัดการเรียนรู้แบบ CIRC ที่มีต่อความสามารถในการ     

             อ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการทำงานกลุ่มของ

             นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. วิทยานิพนธ์  คบ.ม. (หลักสูตรและการสอน). 

             มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, พิษณุโลก.
สำนักทดสอบทางการศึกษา. (2553). ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติชั้น ป.
ปีการศึกษา 2553. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2554 , จาก http:/obec.go.th.


Slavin, R.E.,Steven, R. J.,Madden, N. A., & Farnish, A. M. (1987). “Coperative Integrated Reading and Composition: Two Field Experiments”. Reading Research Quarterly.






              





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น