วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สมชาย พุ่มบานเย็น:การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5


บทความวิจัย : การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ
เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

สมชาย พุ่มบานเย็น1  ดร.วิเชียร ธำรงโสตถิสกุล2
การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ
เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ตามเกณฑ์  80/80  2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  ดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น  2 ขั้นตอน โดยผู้วิจัยได้นำชุดกิจกรรมเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการเรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5   เสนอผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่านเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของชุดกิจกรรมการเรียนรู้และทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครไทย  3 กลุ่ม คือ นักเรียน จำนวน 3 คน เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของภาษาและเวลา แล้วปรับปรุงแก้ไข นำไปทดลองใช้กับนักเรียน จำนวน 9 คน เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม และปรับปรุงแก้ไข นำมาทดลองใช้กับนักเรียน จำนวน 30 คน เพื่อหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 
แล้วนำชุดกิจกรรมมาใช้กับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครไทย  อำเภอนครไทย  จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554  จำนวน 1 ห้องเรียน 42 คน โดยการเลือกสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) แบบแผนการวิจัย คือ One Group Pretest - Posttest Design  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม  จำนวน 5 ชุด และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t – test ( Dependent )
            ผลการศึกษา พบว่า  1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบโยนิโสมนสิการโดยภาพรวม มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด  ( X = 4.81, S.D.= 0.26) และ มีประสิทธิภาพ 87.18 / 85.33   ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ 
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

คำสำคัญ
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้  แบบโยนิโสมนสิการ  หลักธรรม



1 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2 อาจารย์ประจำ ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทนำ

จากวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมาย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 
มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย คุณธรรมจริยธรรม
ค่านิยมที่พึงประสงค์ มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ
ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิดการแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี  และมีทักษะชีวิต
 เห็นคุณค่าของตนเองที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข      
           จากเหตุผลข้างต้น ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นครูปฏิบัติการสอน ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา
และวัฒนธรรม ซึ่งรับผิดชอบการสอนในวิชาพระพุทธศาสนา มาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ทำให้ทราบถึงสภาพปัญหาในการเรียนการสอน วิชาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมปัญหาที่วิเคราะห์ได้จากการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาพระพุทธศาสนา ดังนี้
            1.  ปัญหาผลการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในส่วนของเรื่อง พระธรรม ผู้เรียนจะมีผลการเรียน
ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ครูผู้สอนตั้งไว้ 
            2.  ปัญหาจากลักษณะเนื้อหาของวิชา พระพุทธศาสนาที่มีเนื้อหาเป็นจำนวนมากและ ยากต่อความเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนให้จบในเวลาที่กำหนด
            3.  ปัญหาจากสภาพความเบื่อหน่ายและการแสดงอาการที่ไม่สนใจเรียนในวิชาพระพุทธศาสนา
ของนักเรียน เพราะส่วนใหญ่ผู้เรียนจะเห็นว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องไม่สำคัญการนับถือศาสนาเป็นเรื่องที่คนทั่วไปต้องทำกันอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องศึกษาในเรื่องศาสนาอย่างลึกซึ้ง ส่งผลให้ผู้เรียนไม่มีการซึมซับที่ดีในเรื่อง ศีลธรรมและจริยธรรม ทำให้เกิดปัญหาเยาวชนหลงผิด มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากวิถีชีวิตและค่านิยมดั้งเดิม
ที่ดีงามของไทย
           4.  ผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ประจำปีการศึกษา 2553 ของระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีผลการทดสอบ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สาระการเรียนรู้ที่ 1  ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ได้คะแนน 9.10  คะแนนจากคะแนนเต็ม 20 คะแนน
ซึ่งต่ำกว่า ผลเฉลี่ยระดับจังหวัดที่ 9.52  คะแนน ระดับสพฐ.ที่ 9.61 คะแนนและระดับประเทศที่ 9.54  คะแนน 
ซึ่งทั้งระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด ระดับสพฐ.และดับประเทศ ก็ยังต่ำกว่า ร้อยละ 50 แสดงให้เห็นว่านักเรียนยังมีผลการเรียนยังไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยในฐานะครูผู้สอนในรายวิชา พระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน
แต่ละครั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน และประกอบกับความต้องการในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของ
ครูผู้สอนอยู่แล้ว  ผู้วิจัยจึงสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเลือกเนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้เรื่อง พระธรรมเพราะมีเนื้อหาซับซ้อน มีคำศัพท์ที่เข้าใจได้ยาก และมีเนื้อหามากกว่าหน่วยการเรียนรู้อื่น ไม่สามารถเรียนรู้ได้จบในเวลาที่กำหนด การสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จึงเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนที่จะสามารถนำไปศึกษานอกเวลาเรียนได้ และยังช่วยแก้ปัญหาทั้งทางด้านการเรียนและแก้ปัญหาด้านคุณธรรม ส่งเสริมการทำกิจกรรมกลุ่ม ช่วยให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
            ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย   มีภาพประกอบ มีคำอธิบาย ที่ใช้ภาษาสละสลวย ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ เนื้อหาได้ง่าย การศึกษาโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้นี้ จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ และลงมือปฏิบัติจนเกิดปัญญาด้วยตนเอง อีกทั้งยังเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ลักษณะเนื้อหาจะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด   มีโอกาสฝึกประสบการณ์ด้วยการเผชิญกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย   รู้กฎเกณฑ์ หลักธรรม และรู้จักการเลือกตัดสินใจได้ถูกต้อง สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
จุดมุ่งหมายของการวิจัย
1.  เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ตามเกณฑ์  80/80
2.  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้
แบบโยนิโสมนสิการ เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า
             การพัฒนา ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5    มีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย  2  ขั้นตอนดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ    เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
          ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่อง พระธรรมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียน และหลังเรียน
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
1.  การสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 
            1.1 ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษารายละเอียด แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้
            1.2 ศึกษาเอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
            1.3 ศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม  
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ดังนี้
            1.4  ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักการและวิธีการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ จากเอกสารตำราของวิชัย  วงษ์ใหญ่  (2525, หน้า 134-137) และสุมน อมรวิวัฒน์ (2530, หน้า 96-102) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดแบ่งเนื้อหาและสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการอย่างถูกต้อง
            1.5  นำเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนา (ส32204) เรื่อง พระธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 มาจัดแบ่งเป็นส่วนย่อย ลำดับความรู้จากง่ายไปหายาก แล้วนำมาสร้างเป็นชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ 
 จำนวน 5 ชุดดังนี้
                  ชุดที่ 1 พระรัตนตรัย ตอน วิเคราะห์ความหมายและคุณค่าของธรรม
ชุดที่ 2 หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับอริยสัจ 4
ชุดที่ 3 พุทธศาสนสุภาษิตและคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
 ชุดที่ 4 พระไตรปิฎก
 ชุดที่ 5 การบริหารจิตและเจริญปัญญา
1.6  นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้น เสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำแก้ไข  ในส่วนที่ยังบกพร่อง และนำมาปรับปรุงแก้ไข
             1.7  นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้ปรับปรุงแก้ไข ตามข้อเสนอแนะของอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว
พร้อมแบบประเมินความเหมาะสมของชุดกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน
พิจารณาความเหมาะสมของชุดกิจกรรมในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ ด้านรูปแบบ ด้านคำแนะนำ
ในการใช้ชุดกิจกรรม ด้านเนื้อหา ด้านภาษา ด้านการวัดผลประเมินผล ด้านแผนการจัดการเรียนรู้   โดยใช้มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ
1.8  นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินความเหมาะสมแล้ว มาหาค่าเฉลี่ย
 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำไปเทียบกับเกณฑ์ความเหมาะสม ตามเกณฑ์ของบุญชม  ศรีสะอาด (2545, หน้า 103)  แล้วนำชุดกิจกรรมมาปรับปรุงบางส่วนตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2.  การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ
            การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผู้วิจัยได้ดำเนินการหาประสิทธิภาพตามขั้นตอนดังนี้
            นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ที่สมบูรณ์ถูกต้องไปหาประสิทธิภาพกับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครไทย โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้
                      ทดลองครั้งที่ 1
            นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ไปทดลองใช้กับนักเรียนรายบุคคล จำนวน 3 คน ที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับ  เก่ง  ปานกลาง อ่อน  เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของภาษา ขั้นตอนในการศึกษา ความยากง่ายของของเนื้อหา ความเหมาะสมของเวลา โดยผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด และสัมภาษณ์นักเรียน ตลอดจนเฝ้าดูการทำกิจกรรมบันทึกผลการสังเกต นำผลมาปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมให้ดียิ่งขึ้น           
                   ทดลองครั้งที่ 2
            นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ที่ปรับปรุงแก้ไขจากการทดลองครั้งที่ 1 แล้วไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครไทยที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับ เก่ง 3 คน  ปานกลาง 3 คน อ่อน  3 คน รวมทั้งหมด 9 คน เพื่อตรวจสอบขั้นตอนในการเรียนและความเหมาะสมของเวลาในการทำกิจกรรม โดยผู้วิจัยจะเป็นผู้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนระหว่างการเรียนรู้ และหลังจากจบการเรียนรู้ จะให้นักเรียนอภิปรายถึงข้อบกพร่องของ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข
                      ทดลองครั้งที่ 3
นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ที่ปรับปรุงแก้ไขจากการทดลองครั้งที่ 2 แล้วไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครไทย อำเภอนครไทย  จังหวัดพิษณุโลกจำนวน  30 คน  เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการแต่ละชุด ตามเกณฑ์ 80/80 โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำกิจกรรมเสริมทักษะในชุดกิจกรรมเป็นค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ และค่าเฉลี่ยของคะแนนในการทำแบบทดสอบหลังเรียนของชุดกิจกรรมเป็นค่าประสิทธิภาพผลลัพธ์
            ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  เรื่องพระธรรมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
            ขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรม
การเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5  วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่า
 t-test
          แหล่งข้อมูล
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนนครไทย  อำเภอนครไทย
จังหวัดพิษณุโลก
                        กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนนครไทย  อำเภอนครไทย 
จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554  จำนวน 42 คน โดยการเลือกสุ่มอย่างง่าย
(Simple Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  จำนวน 5 ชุด
      2.  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ใช้สอบก่อนเรียนและสอบหลังเรียน
วิชาพระพุทธศาสนา (ส32204) เรื่องพระธรรม  เป็นข้อสอบปรนัยจำนวน  40  ข้อ
แบบแผนการทดลอง
            ในการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ในครั้งนี้ผู้วิจัยใช้แบบทดลองแบบ One – Group Pretest – posttest design มีลักษณะดังนี้ ( ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ,2538.หน้า 249)

T1
X
T2


                         X          คือ        การจัดทำ (Treastment)
            T1         คือ        การสอบก่อนที่จะจัดกระทำการทดลอง (Pre-test)
            T2                  คือ        การสอบหลังจากที่จัดกระทำการทดลอง (Post-test)
การดำเนินการทดลอง
            ในการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  ผู้วิจัยได้ทดลองใช้ควบคู่กับแผนการจัดการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง พระธรรม ซึ่งทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 42 คน มีขั้นตอนในการทดลองใช้ ดังนี้
            1.  ก่อนเริ่มดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้วิจัยได้ให้นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง
ทำการทดสอบก่อนเรียน (Pre-test)  โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ
ซึ่งจะทดสอบนอกเวลาเรียนโดยจะใช้ชั่วโมงจริยธรรม จำนวน 1 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจแบบทดสอบเพื่อเก็บคะแนนที่ได้จากการทดสอบไว้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต่อไป
            2.  ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5 9  จำนวน 12 ชั่วโมง
และใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เป็นสื่อการเรียนตามที่ระบุไว้ในแผน จนครบทุกชุด
และครบตามช่วงเวลาที่กำหนด
            3.  เมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้วิจัยได้ให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชุดเดียวกันกับแบบทดสอบก่อนเรียน ซึ่งจะทำการสอบนอกเวลาเรียนโดยใช้ชั่วโมงจริยธรรมอีก 1 ชั่วโมงเช่นเดียวกับการทดสอบก่อนเรียน แล้วตรวจแบบทดสอบเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ ด้วยการตรวจสอบความมีนัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างคะแนนที่ได้จากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการทดสอบค่าที  t  แบบไม่เป็นอิสระแก่กัน (Dependent)
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล 2 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ   เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
1. ผลการประเมินความเหมาะสม ของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ 
เรื่องพระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน
2. ผลการหาประสิทธิภาพของกระบวนการ และประสิทธิภาพของผลลัพธ์
ขั้นตอนที่ 2 ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโส เรื่อง พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ด้วยการทดสอบความมีนัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียนและคะแนนทดสอบหลังเรียน โดยการหาค่า t

สรุปผลการวิจัย
     1.  ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการโดยผู้วิจัยได้สร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้จำนวน 5 ชุด มีผลการพิจารณาความเหมาะสมจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน  3 คน พบว่าโดยภาพรวม องค์ประกอบของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ มี x = 4.81  S.D. =  0.26  มีความเหมาะสมอยู่ในระดับ มากที่สุด
            ส่วนผลการหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม ตามเกณฑ์ 80/80 จำนวน 3  ครั้งคือ การทดลองรายบุคคลกับนักเรียน 3 คน  การทดลองแบบกลุ่มเล็กกับนักเรียน 9 คน และการทดลองภาคสนามกับนักเรียน 30 คน พบว่าประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม ที่สร้างขึ้นมีค่ามีประสิทธิภาพของกระบวนการ E1เท่ากับ 87.18 และมีประสิทธิภาพผลลัพธ์ E2 เท่ากับ 85.33  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2.การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการทดสอบความมีนัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน    มีค่า  t  เท่ากับ 38.08  แสดงว่าคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ระดับ .01
อภิปรายผล
1.  การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการเรื่องพระธรรม ตรวจสอบความเหมาะสม โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ซึ่งพบว่า มีความเหมาะสม มากที่สุด และมีผลการหาประสิทธิภาพ ในภาพรวมเท่ากับ  87.18 / 85.33  ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 ที่ปรากฏผลเช่นนี้เนื่องจากผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ตามหลักการและขั้นตอน โดยมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดการสร้างชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ ยึดหลักตามแนวการผลิตชุดกิจกรรมการเรียนรู้ของ วิชัย  วงษ์ใหญ่  (25251,หน้า 134-137) และรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบโยนิโสมนสิการ ของสุมน อมรวิวัฒน์ (2530, หน้า 96-102)     คือมีการวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน  ศึกษาหลักสูตรเพื่อวิเคราะห์เนื้อหา เลือกเนื้อหามาจัดทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ  ศึกษาข้อมูลในการกำหนดจุดประสงค์ กำหนดวิธีการ      ลงมือสร้าง ส่งอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ นำไปทดลองใช้ แล้วนำผลการทดลอง      มาปรับปรุงแก้ไข และขั้นตอนสุดท้ายคือการนำไปใช้จริง จนทำให้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการมีประสิทธิภาพของกระบวนการ E1เท่ากับ 87.18 และมีประสิทธิภาพผลลัพธ์E2 เท่ากับ 85.33 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ชัชฎาภรณ์  วิโย (2551)ที่ได้ศึกษาผลการใช้ชุดการสอนแบบโยนิโสมนสิการ รายวิชา ส 33201 พระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ผลการศึกษาพบว่า ชุดการสอนแบบโยนิโสมนสิการ รายวิชา ส 33201 พระพุทธศาสนาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 84.02/83.40 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ และยังสอดคล้องกับงานวิจัยของพระมหาประทีป กิตฺติภทฺโท (เกษรอินทร์) (2550) ที่ได้ศึกษาผลการเรียนรู้โดยวิธีการสอนแบบสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการเรื่องไตรสิกขา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผลการศึกษาพบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยวิธีการสอนแบบสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการเรื่องไตรสิกขา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.15 / 84.17 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2.  การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เรื่องพระธรรม จากผลการศึกษาพบว่าคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของผู้เรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการเรื่อง พระธรรม สูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจาก การจัดการเรียนรู้โดยใช้การศึกษาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการเรื่องพระธรรมนี้ จะจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอนแบบโยนิโสมนสิการซึ่งมีขั้นตอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้ค้นพบความรู้ และลงมือปฏิบัติจนเกิดปัญญาด้วยตนเอง อีกทั้งยังเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ลักษณะเนื้อหาจะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด  มีโอกาสฝึกประสบการณ์ด้วยการเผชิญกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย รู้กฎเกณฑ์ หลักธรรม และรู้จักการเลือกตัดสินใจได้ถูกต้อง ซึ่งจากการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา จนสามารถตอบแบบทดสอบได้ผ่านเกณฑ์ สอดคล้องกับแนวคิดของสุมน อมรวิวัฒน์ และแนวคิดของพระธรรมปิฏก ซึ่งกล่าวถึงโยนิโสมนสิการว่าเป็นธรรมที่ใช้ในการดำเนินชีวิตทุกส่วนทุกเวลา ทั้งในการรับรู้ การเผชิญสถานการณ์ การสัมพันธ์เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายทุกกรณี โยนิโสมนสิการ เป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี โยนิโสมนสิการเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสติ ช่วยให้สติที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ช่วยให้สติที่เกิดขึ้นแล้วเกิดต่อเนื่องไปอีก ถ้ามองโยนิโสมนสิการในแง่ของการทำหน้าที่ โยนิโสมนสิการก็คือความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหา  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนิตยา  ทรงมงคลรัตน์ (2550) ที่ได้ศึกษาผลการใช้ชุดการสอน เรื่อง หลักธรรม   ที่เกี่ยวข้องกับอริยสัจ 4 รายวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดการสอนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01 และยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ คมกริช  อุดมพล (2552) ที่ได้ศึกษาผลการใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ชั้นประถมศึกษาปีที่  6 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01
แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนที่มีสื่อหรือนวัตกรรมที่ดี จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ตามกระบวนการของการสอนแบบโยนิโสมนสิการ ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และทำกิจกรรมโดยไม่รู้สึกเบื่อ มีความสุขสนุกสนาน ในการเรียน การนำความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เดิม ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง รวมถึงการแนะนำของครูผู้สอน และการสรุปเนื้อหาความรู้ร่วมกันของนักเรียนจะทำให้นักเรียนมีการพัฒนาตนเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การเรียนรู้เป็นเรื่องราว และเป็นระบบระเบียบ    
ข้อเสนอแนะ
            1.  ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
ควรมีการสำรวจประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนว่า ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ต้องให้โอกาสกับผู้เรียนได้ใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ที่ค้นพบด้วยตนเองมากน้อยเพียงใด การค้นพบความรู้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอันจะทำให้ผู้เรียนนั้นเรียนอย่างมีความหมายต่อตัวผู้เรียนเองเป็นอย่างมาก
2.  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
      ควรมีการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการเรื่องอื่น ๆ ในสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาหรือสาระอื่น ๆ ในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

บรรณานุกรม
คมกริช  อุดมพล .(2552)รายงานผลการใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้  
            สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม  เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
            ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. โรงเรียนวัดสัมพันธ์,ปราจีนบุรี :มปพ. 
ชัชฎาภรณ์ วิโย (2551). การพัฒนาชุดการสอนแบบโยนิโสมนสิการ รายวิชา ส 33201
            พระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล,นครพนม :มปพ.
ชัยยงค์   พรหมวงศ์. (2534). เอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อการศึกษา.  นนทบุรี :
  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,   
นิตยา  ทรงมงคลรัตน์. รายงานการใช้และพัฒนาชุดการสอนเรื่องหลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอริยสัจ 4รายวิชาสังคมศึกษาพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 .โรงเนรบยกมลาสัย, กาฬสินธุ์ :มปพ.
บุญชม   ศรีสะอาด,  นิภา   ศรีไพโรจน์  และนุชวนา   ทองทวี.  (2528). การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษา.  มหาสารคาม : โรงพิมพ์ปรีดาการพิมพ์.
พระธรรมปิฎก (.. ปยุตโต). (2538). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
พระมหาประทีป กิตฺติภทฺโท (เกษรอินทร์) (2550). ผลการเรียนรู้โดยวิธีการสอนแบบ
          สร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ เรื่องไตรสิกขา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ กศ...มหาสารคาม:
 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
มนสิช  สิทธิสมบูรณ์. (2550). ระเบียบวิธีวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 8. พิษณุโลก : คณะศึกษาศาสตร์              มหาวิทยาลัยนเรศวร.
ล้วน  สายยศ และอังคณา  สายยศ.(2538). เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สุวีริยาสาส์น.
วิชัย  วงษ์ใหญ่.  (2521). พัฒนาหลักสูตรและการสอนมิติใหม่.  กรุงเทพ ฯ :  รุ่งเรืองธรรม. 
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542). พระราชบัญญัติ 
          การศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ 
             (...).
สุมน อมรวิวัฒน์..(2530). การสอนโดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ. กรุงเทพฯ :
โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น