วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ญานิศา ศรีโชติ : การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ SSCS เรื่องสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1


บทความวิจัย : การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS 
                                                                              เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1

ญานิศา  ศรีโชติ1  วิเชียร  ธำรงโสตถิสกุล2

การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS 
เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1
THE DEVELOPMENT OF INSTRUCTIONAL PACKAGE  THROUGH THE SSCS
ON TOPIC “LINEAR EQUATIONS  AND INEQUALITIES WITH ONE VARIABLE”
FOR   MATHAYOMSUKSA 1 STUDENTS


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย  คือ  1)  เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ตามเกณฑ์  75/75  2)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน  โดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  3)  เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  โดยดำเนินการวิจัยตามกระบวนการของงานวิจัยและพัฒนามี  3  ขั้นตอน  ซึ่งผู้วิจัยได้นำชุดกิจกรรมนำเสนอผู้เชี่ยวชาญจำนวน  3  ท่านเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของชุดกิจกรรมและทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โรงเรียนบ้านท่าข้าม  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์  เขต  1  ปีการศึกษา  2554  ทั้ง  3  กลุ่ม  คือ  นักเรียนจำนวน  3  คน  เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของภาษาและเวลา  แล้วปรับปรุงแก้ไข  นำไปทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน  9  คน  เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม  และปรับปรุงแก้ไข  นำไปทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน  30  คน  เพื่อหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์  75/75  แล้วนำชุดกิจกรรมมาใช้กับกลุ่มตัวอย่าง  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โรงเรียนบ้านคลองปลาหมอ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์  เขต  1  ปีการศึกษา  2554  จำนวน  30  คน  ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง  แบบแผนการวิจัย  คือ  One  Group  Pretest  -  Posttest  Design  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ประกอบด้วยชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  จำนวน  4  ชุด  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน  หาประสิทธิภาพจากสูตร  E1/E2  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  คือ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน   และค่าสถิติ  t - test  แบบ  Dependent

ผลการวิจัย  พบว่า
              1.  ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  มี  4  องค์ประกอบ  คือ  1)  คู่มือการใช้ชุดกิจกรรม  2)  แผนการจัดการเรียนรู้  3)  สื่อการจัดการเรียนรู้  4)  การวัดและประเมินผล  และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  4  ขั้นตอน  พบว่า  มีความเหมาะสมในองค์ประกอบต่างๆของชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมาก  และมีประสิทธิภาพ  78.13/76.08       
              2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01
              3.  ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  พบว่า  โดยภาพรวมมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด

คำสำคัญ  :  ชุดกิจกรรม  วิธีการสอนแบบ  SSCS 

ABSTRACT
                The purposes of this research were : 1) to create and study the efficiency of   instructional package through the SSCS on topic “linear equations and inequalities  with one variable” for Mathayomsuksa 1 students at the level of 75/75. 2) to compare  educations achievement before and after using the instructional package through the  SSCS on topic “linear equations and inequalities with one variable” for  Mathayomsuksa 1 students. 3) to study the student’s satisfaction who study with the  instructional package through the SSCS on topic “linear equations and inequalities  with one variable” for Mathayomsuksa 1 students. The research methodology does by  research and development in 3 processes. Three experts examine the appropriate of instructional package and get experiment with Mathayomsuksa 1 students at Thakam  School, Office of Elementary Educational Service Area Region Phetchaboon 1,  academic year 2011 by 3 students to examine the appropriate of instructional package  and improve the language using and time and 9 students to find the instructional  package’s efficiency. After that it has been taken to use with 30 students to find the  instructional package’s efficiency at the level of 75/75. Then using it with the sample  group; Mathayomsuksa 1 students at Khlongplamor School, Office of Elementary Educational Service Area Region Phetchaboon 1, academic year 2011 by 30 students,  by purposive sampling. The research design is One Group Pretest – Posttest Design   and the research instruments compose 4 sets of instructional package through the  SSCS on topic “linear equations and inequalities with one variable” for  Mathayomsuksa 1 students. The educations achievement test, a student’s satisfaction  questionnaire, study  efficiency with E1/E2. The statistics which used for data  analysis  are the mean, the standard deviation, and t - test Dependent. 
              The findings of this research were as follows:
              1. The instructional package through the SSCS on topic “linear equations and  inequalities with one variable” for Mathayomsuksa 1 students compose of 4 factors as  follow; 1) Manual of instructional package 2) lesson plan 3) learning materials 4)  measurement and evaluation. The learning process through the SSCS 4 processes, all  parts are at  high levels and met the efficiency at 78.13/76.08.
             2. The students have achievement after using instructional package through  the SSCS on topic “linear equations and inequalities with one variable” for  Mathayomsuksa 1 students  was higher than before at the statistical significant  .01
             3. The students have satisfied to learning by using the instructional package  through the SSCS on topic “linear equations and inequalities with one variable” for  Mathayomsuksa 1 students in the highest level satisfaction.

Keyword  :  instructional package, through the SSCS

บทนำ
              คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์  คิดอย่างมีเหตุผล  เป็นระบบ  มีแบบแผน  สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ  ช่วยให้คาดการณ์  วางแผน  ตัดสินใจ  แก้ปัญหา  และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องเหมาะสม  นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ  คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต  ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551,  หน้า  75)
              การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ผ่านมา  แม้ว่าจะได้มีการปรับปรุงหลักสูตร  เนื้อหา  และวิธีการสอนคณิตศาสตร์แล้วก็ตาม  ซึ่งน่าจะทำให้คุณภาพของการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์พัฒนาขึ้น  แต่พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์  ซึ่งเห็นได้จากรายงานผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับประเทศ  ปีการศึกษา  2553  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  ของโรงเรียนบ้านคลองปลาหมอ  อำเภอชนแดน  จังหวัดเพชรบูรณ์  ที่ผู้วิจัยสอนอยู่นั้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำกว่าร้อยละ 50  ของคะแนนเต็มทุกวิชา  จากการสอบทั้งหมด  5  กลุ่มสาระวิชา  ได้แก่  ภาษาไทยได้คะแนนร้อยละ  39.50  วิทยาศาสตร์ได้คะแนนร้อยละ  37.33  ภาษาอังกฤษได้คะแนนร้อยละ  23.50  สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมได้คะแนนร้อยละ  37.50  ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนร้อยละ  24.83    นักเรียนที่ได้คะแนนต่ำสุด  คือ  0  คะแนน  นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุด  คือ  16  คะแนน  จากคะแนนเต็ม  100  คะแนน  คิดเป็นร้อยละที่ต้องปรับปรุงร้อยละ  80  พอใช้ร้อยละ  20  ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบแก้ไขสำหรับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์  (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์  เขต  1, 2553, ไม่มีเลขหน้า)
               จากแนวคิดหรือวิธีการสอนที่ใช้ในการส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ให้สูงขึ้น  พบว่าแนวคิดของโพลยาจะสามารถใช้เฉพาะการแก้โจทย์ปัญหาเพียงอย่างเดียว  ในขณะที่วิธีการสอนแบบร่วมมือวิธีนี้จะใช้เฉพาะบางเนื้อหาที่เหมาะกับการทำงานกลุ่ม  และวิธีการสอนแบบ  5E  วิธีนี้จะใช้ได้ดีในวิชาวิทยาศาสตร์  สำหรับวิธีการสอนแบบ  SSCS  พบว่าเป็นวิธีการสอนที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาและให้นักเรียนใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลมุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยครูเป็นเพียงผู้นำเสนอปัญหาและเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนคิดค้นคว้าด้วยตนเอง  มี  4  ขั้นตอน  ดังนี้  ขั้นที่  1  Search : S  เป็นขั้นตอนการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา  และการแยกประเด็นของปัญหา  ขั้นที่  2  Solve : S  เป็นขั้นตอนในการวางแผนและการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ  ขั้นที่  3  Create : C  เป็นขั้นตอนการนำผลที่ได้มาจัดกระทำเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและเพื่อการสื่อสารกับคนอื่นได้  และขั้นที่  4  Share : S  เป็นขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลและวิธีการแก้ไขปัญหา
                จากเหตุผลและหลักการดังกล่าว  ผู้วิจัยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน  จึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่องสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูงขึ้น  มีทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  และสามารถนำไปใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับสูงขึ้นและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

จุดมุ่งหมายของการวิจัย
                1.  เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ตามเกณฑ์  75/75
                2.  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน  โดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ SSCS เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
                3.  เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1

วิธีดำเนินการวิจัย
               ในการพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาตามกระบวนการของการวิจัยและพัฒนา  (Research and Development)  โดยมีวิธีดำเนินการ  3  ขั้นตอน  ดังนี้
               ขั้นตอนที่ 1  การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1
ในการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ผู้วิจัยได้สร้างชุดกิจกรรม  จำนวน  4  ชุด  ประกอบด้วย
               ชุดกิจกรรมชุดที่  1  เรื่อง  แบบรูปและความสัมพันธ์                     
               ชุดกิจกรรมชุดที่  2  เรื่อง  คำตอบของสมการ                                           
               ชุดกิจกรรมชุดที่  3  เรื่อง  การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว                       
               ชุดกิจกรรมชุดที่  4  เรื่อง  การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
               และในแต่ละกิจกรรมมีขั้นตอนการสอนแบบ  SSCS  มี  4  ขั้นตอน  คือ  1)  Search  การค้นหาข้อมูลของปัญหา   2)  Solve  การกระทำกับปัญหาหรือการหาคำตอบที่ต้องการ  3)  Create  การเขียนขั้นตอนการหาคำตอบที่ได้มาให้อยู่ในรูปที่เข้าใจง่าย  4)  Share  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของปัญหาที่ได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น  จากนั้นนำชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน  3  ท่าน  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร  และการสอนคณิตศาสตร์  จำนวน  1  ท่าน  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคณิตศาสตร์  จำนวน  1  ท่าน  และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อการสอนคณิตศาสตร์  จำนวน  1  ท่าน  พิจารณาความเหมาะสมขององค์ประกอบของชุดกิจกรรม  จากนั้นนำไปปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  และนำชุดกิจกรรมไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โรงเรียนบ้านท่าข้าม  อำเภอชนแดน  จังหวัดเพชรบูรณ์  จำนวน  3  คน  เพื่อปรับปรุงเวลา  รูปแบบและความเหมาะสมของชุดกิจกรรม  จากนั้นนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โรงเรียนเดียวกัน  จำนวน  9  คน  และจำนวน  30  คน  เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม  ตามเกณฑ์  75/75
ขั้นตอนที่ 2  การใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว    สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1
ประชากร  ได้แก่  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ศูนย์ประสิทธิภาพท่าข้าม  อำเภอชนแดน  จังหวัดเพชรบูรณ์  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2554
กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านคลองปลาหมอ  อำเภอชนแดน  จังหวัดเพชรบูรณ์  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2554  จำนวน   30  คน  โดยเลือกแบบเจาะจง
ขั้นตอนที่  3  การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ในการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลด้วยตนเองจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2554  โรงเรียนบ้านคลองปลาหมอ  จำนวน  30  คน  ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว    สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว    สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  ดังนี้
            1.  เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง  คือ  ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  จำนวน  4  ชุด  พร้อมทั้งคู่มือการใช้
            2.  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  คือ  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว เป็นแบบปรนัย  และแบบประเมินความพึงพอใจ

การวิเคราะห์ข้อมูล
           ขั้นตอนที่ 1  การสร้างชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  วิเคราะห์โดยการหาความเหมาะสมของชุดกิจกรรมด้วยการหาค่าเฉลี่ย  และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน   และหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยสูตร  E1/E2
           ขั้นตอนที่ 2  การใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว    สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  วิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย  และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  จากคะแนนสอบของนักเรียนและทดสอบความมีนัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยที่ได้  จากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม  โดยใช้ค่าสถิติ  t - test  แบบ  Dependent
           ขั้นตอนที่  3  การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  วิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย  และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา  (Alpha  Coefficient)  จากคะแนนระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 

สรุปผลการวิจัย
             1.  การสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  โดยพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆของชุดกิจกรรมจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน  3  ท่าน  พบว่าค่าเฉลี่ย ทั้ง  4  ชุดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  และเมื่อนำชุดกิจกรรมไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  จำนวน  30  คน  พบว่าชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพเท่ากับ  78.13/76.08  และแต่ละชุดมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์  75/75
2. การใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมสูงกว่าก่อนเรียนด้วยชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01
3. การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  พบว่า  นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด 

อภิปรายผลการวิจัย 
               ผลการพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ผู้วิจัยได้นำประเด็นที่ค้นพบมาอภิปรายโดยแบ่งออกเป็น  3  ขั้นตอนตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย  ดังนี้
1.  ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 
            1.1 ชุดกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นได้ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมของด้านต่างๆของชุดกิจกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ  จำนวน  3  ท่าน  พบว่า  มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  ทั้งนี้เนื่องจากในการสร้างชุดกิจกรรมผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  รูปแบบการเรียนการสอนแบบ  SSCS  หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวกับชุดกิจกรรม  การวัดและประเมินผลของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  แล้วจึงดำเนินการสร้างชุดกิจกรรมที่มีองค์ประกอบสอดคล้องกับวิธีการสอนแบบ  SSCS  4  ขั้นตอน  คือ  1)  Search  การค้นหาข้อมูลของปัญหา   2)  Solve  การกระทำกับปัญหาหรือการหาคำตอบที่ต้องการ  3)  Create  การเขียนขั้นตอนการหาคำตอบที่ได้มาให้อยู่ในรูปที่เข้าใจง่าย  4)  Share  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของปัญหาที่ได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น  และประเมินผลพร้อมการประเมินครอบคลุมทั้ง  3  ด้าน  คือ  ด้านพุทธพิสัย  ประเมินความรู้ความจำ  ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์  การประเมินค่า  ผู้วิจัยได้มีการตรวจสอบเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของชุดกิจกรรม  โดยมีการทดลองใช้กับนักเรียน  จำนวน  3  คน  เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมด้านภาษา  เนื้อหา  กิจกรรม  สื่อ  เวลา  และปัญหาที่พบในการใช้ชุดกิจกรรม  พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร่อง  และนำไปทดลองใช้กับนักเรียน  จำนวน  9  คน  เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม    และอาจเนื่องมาจากผู้วิจัยได้ศึกษากระบวนการสร้างชุดกิจกรรม ตามแนวคิดหลัก  6 ประการ ของ บุญเกื้อ  ควรหาเวช (2542, หน้า 92-94)  และอรนุช  ลิมตศิริ (2546, หน้า 168)  ซึ่งประกอบด้วย  ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล  แนวคิดความพยายามที่จะเปลี่ยนการสอนจากเดิมที่ยึดครูเป็นแหล่งความรู้มาเป็นการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนด้วยการใช้ความรู้จากสื่อการสอนต่าง ๆ  แนวคิดการใช้สื่อการสอนหลายอย่างมาช่วยการสอนให้เหมาะสม  แนวคิดกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์  และแนวคิดการสอนแบบโปรแกรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ทราบผลการตัดสินใจหรือปฏิบัติกิจกรรม ได้รับการเสริมแรง และได้เรียนรู้ทีละขั้นตอนตามความสามารถและความสนใจ  และใช้วิธีวิเคราะห์ระบบ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นนี้มีความเหมาะสมในระดับมาก
          1.2  การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมทั้ง  4  ชุด  เมื่อนำชุดกิจกรรมมาทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน  9  คน  โดยรวมมีค่า  79.31/78.06  ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์  75/75  จากนั้นเมื่อนำชุดกิจกรรมมาทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน  30  คน  พบว่าชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพโดยรวมมีค่า  78.13/76.08  เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของวาโร  เพ็งสวัสดิ์  (2546,  หน้า  43-44)  เสนอว่าการกำหนดเกณฑ์เท่าใดนั้นผู้สอนเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม  แต่โดยปกติเนื้อหาที่เป็นความรู้มักจะต้องเอาไว้ที่  80/80,  85/85,  90/90  ส่วนเนื้อหาที่เป็นทักษะอาจจะตั้งไว้ต่ำกว่านี้  เช่น  75/75  ทั้งนี้หลังจากประเมินประสิทธิภาพแล้วผลลัพธ์ควรใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้  และไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เกิน  2.5%  ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากชุดกิจกรรมมีคู่มือการใช้ชุดกิจกรรมที่ครบถ้วน  มีบัตรคำสั่งที่ชัดเจนและถูกต้อง  เป็นลำดับขั้นตอน  นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  มีสื่อการเรียนการสอนที่พัฒนาผู้เรียนด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์  และมีบัตรเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้เรียน  สามารถให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัด  ด้านแผนการจัดการเรียนรู้มีขั้นตอนตามวิธีการสอนแบบ  SSCS  ที่สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้  รวมทั้งคำชี้แจงสำหรับครูและนักเรียนสามารถทำให้ครูและนักเรียนปฏิบัติตามคำแนะนำจนกระทั่งบรรลุวัตถุประสงค์ได้  มีการวัดผลประเมินผลที่ตรงและครอบคลุมตัวชี้วัด    และอาจเนื่องจากได้มีการปรับปรุงชุดกิจกรรมเป็นระยะจึงทำให้ชุดกิจกรรมมีเนื้อหาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเรียนรู้  มีรูปภาพประกอบมีสีสันสวยงาม
                     ผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ วิชัย วงษ์ใหญ่ (2525, หน้า 189-192)  ที่กล่าวว่า  การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม ควรนำไปทดลองใช้กับกลุ่มย่อยดูก่อน  เพื่อตรวจสอบหาข้อบกพร่องและแก้ไขปรับปรุงอย่างดี แล้วจึงนำไปทดลองใช้กับเด็กทั้งชั้นเรียนหรือกลุ่มใหญ่ ๆ  ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของกาญจนา  ด้วงนา  และคณะ  (2551,  บทคัดย่อ)  ได้ทำการวิจัยเรื่อง  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการกำลังสองตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  พบว่าชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพเท่ากับ  79.33/76.67    สอดคล้องกับผลการวิจัยของฉลองรัตน์  พารีสอน  และคณะ  (2553, บทคัดย่อ)  ได้ทำการวิจัยเรื่อง  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  ทฤษฎีบทพีทาโกรัส  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  พบว่า  ชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพเท่ากับ  76.27/75.67  และสอดคล้องกับผลการวิจัยของสิริพร  ออมสิน  (2553,  บทคัดย่อ)  ได้ทำการวิจัยเรื่อง  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการกำลังสองตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4  พบว่าชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเท่ากับ  78.52/79.26  ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

                 2.  ผลการใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  พบว่า  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01  ทั้งนี้อาจเนื่องจากนักเรียนได้เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมที่มีสื่อการเรียนรู้ที่ดี  และหลากหลาย  มีการจัดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  4  ขั้นตอน  คือ  1)  Search  การค้นหาข้อมูลของปัญหา   2)  Solve  การกระทำกับปัญหาหรือการหาคำตอบที่ต้องการ  3)  Create  การเขียนขั้นตอนการหาคำตอบที่ได้มาให้อยู่ในรูปที่เข้าใจง่าย  4)  Share  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของปัญหาที่ได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น  ซึ่งการเรียนโดยขั้นตอนเหล่านี้  และโดยเฉพาะขั้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของปัญหาที่ได้ทั้งของตนเองและผู้อื่นสามารถทำให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  เกิดการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย  เกิดการเรียนรู้ที่คงทน  เพราะการเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียนได้ร่วมทำกิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มได้เคลื่อนไหวร่างกายทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น  มีการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
                 ผลการวิจัยสอดคล้องกับผลการวิจัยของกาญจนา  ด้วงนา  และคณะ  (2551,  บทคัดย่อ)  และสิริพร  ออมสิน  (2553,  บทคัดย่อ)  ที่พบว่า  นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์หลังใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  สูงกว่าก่อนใช้ชุดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05   

3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด  ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากการเรียนด้วยชุดกิจกรรมเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้แก่นักเรียนจึงช่วยเร้าความสนใจ  ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น  มีการร่วมกันทำกิจกรรมทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน  นักเรียนมีความประทับใจในการทำงานกลุ่มร่วมกัน  ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างแท้จริง  อีกทั้งการเรียนได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ บุญเกื้อ ควรหาเวช (2542,  หน้า  92-94)  และอรนุช  ลิมตศิริ (2546,  หน้า 168) ซึ่งอธิบายถึงแนวคิดการสอนด้วยชุดกิจกรรมว่าเป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ทราบผลการตัดสินใจหรือปฏิบัติกิจกรรม ได้รับการเสริมแรง และได้เรียนรู้ทีละขั้นตอนตามความสามารถและความสนใจ  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นนี้ในระดับมากที่สุด  ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของกาญจนา  ด้วงนา  และคณะ  (2551,  บทคัดย่อ)  พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่องสมการกำลังสองตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  อยู่ในระดับมาก  ทั้งด้านปัจจัยนำเข้า  ด้านกระบวนการ  และด้านผลผลิต  สอดคล้องกับผลการวิจัยของฉลองรัตน์  พารีสอน  และคณะ  (2553, บทคัดย่อ)  พบว่า  นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่องทฤษฎีบทพีทาโกรัส  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  โดยรวมอยู่ในระดับมาก  และสอดคล้องกับการวิจัยของสิริพร  ออมสิน  (2553,  บทคัดย่อ)  พบว่า  นักเรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่องสมการกำลังสองตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  อยู่ในระดับมาก  ทั้งด้านปัจจัยนำเข้า  ด้านกระบวนการ  และด้านผลผลิต
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ทำให้เกิดการเรียนรู้  โดยการฝึกให้นักเรียนได้หาความรู้อย่างเป็นขั้นตอน  เกิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์  ทำให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ในเรื่อง  สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว  ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูงขึ้น  รวมทั้งนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด 

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะทั่วไป
1. การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เป็นกิจกรรมที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการกลุ่ม  ครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนให้มากที่สุด
2. การปฏิบัติกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  ขั้นตอนของกิจกรรมที่ครูควรแนะนำอย่างใกล้ชิดคือขั้นที่  1  การค้นหา  (Search:S)  เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการวิเคราะห์แยกแยะประเด็นของข้อคำถาม  ดังนั้นในขั้นตอนนี้ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์  เชื่อมโยงประสบการณ์  เพื่อให้เกิดความคิดของนักเรียนเอง  ไม่ตัดสินใจเร็วเกินไปในการออกแบบวิธีการแก้ปัญหา  พร้อมทั้งการตรวจสอบให้ได้แนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมภายในเวลาที่กำหนด
3. กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของปัญหาที่ได้ทั้งของตนเองและผู้อื่น  ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงองค์ความรู้ได้อย่างเต็มที่  ถ้ามีส่วนไหนที่นักเรียนแสดงองค์ความรู้ที่ไม่ถูกต้องครูควรแนะนำและเพิ่มเติม 

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1.  ควรพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  ในเรื่องอื่นๆ  ในรายวิชาคณิตศาสตร์
2.  ควรนำแนวคิด หลักการ ทฤษฎี  หรือวิธีการสอนแบบอื่น เช่น ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์  หรือแนวคิดของโพลยา  มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ที่สูงขึ้น

บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ.  (2551).  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2551.  กรุงเทพฯ : 
             โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
กาญจนา  ด้วงนา,  มัทนา  อุ่นต๊ะ  และวาลย์พัชนีย์  บุณยะเวศ.  (2551).  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการ
           สอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการกำลังสองตัวแปรเดียว  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2.                การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  กศ.ม.,  มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก.
ฉลองรัตน์  พารีสอน, บังอร  ประเสริฐผล  และลัดดาวัลย์  ปินตา.  (2553).  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการ
            สอนแบบ  SSCS  เรื่อง  ทฤษฎีบทพีทาโกรัส  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2.  การศึกษา
               ค้นคว้าด้วยตนเอง  กศ.ม., มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก.
บุญเกื้อ  ควรหาเวช.  (2542).  นวัตกรรมการศึกษา.  (พิมพ์ครั้งที่  4).  กรุงเทพฯ : เอสอาร์  ปริ๊นติ้ง.
วาโร  เพ็งสวัสดิ์.  (2546).  การวิจัยในชั้นเรียน.  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์.
วิชัย  วงษ์ใหญ่.  (2525).  พัฒนาหลักสูตรการสอน  -  มิติใหม่.  (พิมพ์ครั้งที่  3).  กรุงเทพฯ :  โอเดียนสโตร์.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์  เขต  1.  (2553).  รายงานการประเมินคุณภาพนักเรียน  ปีการศึกษา  2553.  เพชรบูรณ์. 
สิริพร  ออมสิน.  (2553).  การพัฒนาชุดกิจกรรมด้วยวิธีการสอนแบบ  SSCS  เรื่อง  สมการกำลังสองตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4.  การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  กศ.ม., มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก.
อรนุช  ลิมตศิริ.  (2546).  นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน.  (พิมพ์ครั้งที่  3).  พิษณุโลก :  
               มหาวิทยาลัยนเรศวร.
 
1 นิสิตระดับมหาบัณฑิต  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  ภาควิชาการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร
2 อาจารย์ประจำสาขาวิขาหลักสูตรและการสอน  ภาควิชาการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น