วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศุภชัย จันทพันธ์ : การพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3







บทความวิจัย : การพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ
เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
                                                                              ศุภชัย จันทพันธ์ 1  จรูญ  พานิชย์ผลินไชย2

การพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave
โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
THE DEVELOPMENT OF ENGLISH SUPPLYMENTARY BOOK ABOUT THE “PHA THA PHOL CAVE” INSTRUCTION (KWL PLUS) FOR MATHAYOMSUKSA 3 STUDENTS

บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อทดลองใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha  Tha  Phol  Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษ และแบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และ t-test (Dependent Sample)
               
ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า
       1. หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความ
เหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีประสิทธิภาพ 82.03/82.25                                                                     
       2. ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษหลังใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
      3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับมากที่สุด

คำสำคัญ : หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ, KWL Plus








ABSTRACT
            The purposes of this study were 1) to create and study the efficiency of the English Supplementary Book about the “ Pha Tha Phol Cave” Instruction (KWL Plus) for Mathayomsuksa 3 students according to standard criteria 80/80 2) to compare the achievement of students before and after using English Supplementary Book about the   “ Pha Tha Phol Cave”  Instruction (KWL Plus)  for Mathayomsuksa 3  Students 3) to study satisfaction of students toward the English Supplementary Book about the “Pha Tha Phol Cave” Instruction (KWL Plus)  for Mathayomsuksa 3  Students. The sample consisted of 20 students at Baan Saidongyang School in the second semester of the 2011 academic year. The instruments used in the study were 1) English Supplementary about the Pha Tha Phol Cave” Instruction (KWL Plus) for Mathayomsuksa 3 Students 2) the achievement test and 3) A satisfactory questionnaire. The data were analyzed by mean, standard deviation and t-test.
            The result of this study was as follow;
       1. The Efficiency of the reader’s book was 82.03/82.25 that regard to standard criterion 80/80.
       2. An achievement of Matthayomsuksa 3 students that studied by reader’s book were significantly higher than studied at .05 level.
       3. Satisfaction of Matthayomsuksa 3 students that studied by reader’s book were at high level.
Keywords: English Supplementary Book, KWL Plus


--------------------------------------------------------------------------

                1 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร   

                2 รองศาสตราจารย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทนำ
            จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นสาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างความเป็นพื้นฐานของมนุษย์และมีศักยภาพในการคิด การทำงานอย่างสร้างสรรค์ และสามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ตามต้องการในสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้นการเรียนภาษาอังกฤษ จึงไม่ได้เรียนเพื่อให้รู้เกี่ยวกับภาษาอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นการเรียนเพื่อสามารถใช้ติดต่อสื่อสารตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตปะจำวันได้โดยสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความชำนาญใน 4 ทักษะ คือ ทักษะการฟัง  การพูด การอ่าน การเขียน โดยจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ และความต้องการบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้เรียนมีความรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้ (กรมวิชาการ, 2551, หน้า 220)
            จากแนวทางและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการอ่าน ถือเป็นทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการอ่านช่วยให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสติปัญญาการอ่านทำให้สมองเกิดการกระตุ้นความคิด และเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนทางสังคม  ข่าวสาร และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  จินตนา ใบกาซูยี (2534, หน้า 143)  กล่าวว่า การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของ การเรียนรู้ของผู้เรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะในการอ่านทั้งสิ้น หนังสือจึงเป็นสื่อ ที่สำคัญในการนำความรู้มาสู่ผู้เรียนเพราะการอ่านหนังสือผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้จากการอ่านไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตและสภาพสังคมของตน นอกจากนี้หนังสือยังช่วยพัฒนาความคิด ของผู้เรียนให้กว้างขวาง ฉลาด รอบรู้และส่งเสริมให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดพัฒนาความรู้และสติปัญญา พัฒนาทางด้านภาษา พัฒนาทางด้านนิสัยบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านเจตคติต่อสังคม
            จากความสำคัญของการอ่านและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร หนังสืออ่านเพิ่มเติมจึงมีบทบาท ต่อการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน (สุวิทย์ มูลคํา, 2550, หน้า 73)  กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติม คือหนังสือที่มีเนื้อหาสาระอิงหลักสูตร เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ หลักสูตร นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตามความ เหมาะสมกับวัย และความสามารถในการอ่าน เพื่อการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล บันลือ พฤกษะวัน (2545) กล่าวว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมจัดเป็นหนังสือเสริมประสบการณ์ชนิดหนึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมความและสอดคล้องกับความสนใจของเด็กมีความแตกต่างไปจากหนังสือแบบเรียน โดยช่วยขยายเนื้อหาและยังมีภาพประกอบทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้กว้างขวางขึ้นและง่ายขึ้น สร้างเสริมนิสัยรักการค้นคว้าและพัฒนาการอ่านทำให้เด็กสามารถ อ่านได้อย่างอิสระไม่จำกัดสถานที่ เป็นการเสริมลักษณะนิสัยให้รักการศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเองฝึกทักษะการอ่านอยู่เสมอ รวมทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
            จากรายงานผลสัมฤทธิ์รายวิชาภาษาอังกฤษ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในระดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านไทรดงยั้ง ปีการศึกษา 2553 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 2 พบว่านักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เมื่อเทียบเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดสอบระดับชาติ (O-Net) ในรายวิชาภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น จากการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำพบว่า นักเรียนขาดทักษะในการอ่าน ไม่เข้าใจวิธีการสรุปความและจับประเด็นเรื่องที่อ่าน ทำให้ไม่สามารถทำแบบทดสอบได้ จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาการอ่าน (สุวิทย์ มูลคำและคณะ,2545, หน้า 88) KWL Plus เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตัวว่าตนคิดอะไร มีวิธีการคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนเองได้ โดยมีขั้นตอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ 1) ก่อนการอ่าน (K) 2) ระหว่างการอ่าน (W) 3) ระหว่างการอ่าน (L 4) สรุปการอ่านเป็นแผนผังความคิด และเขียนสรุปทบทวนเรื่องที่อ่าน (Plus) ผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเองมีการจัดระบบข้อมูลเพื่อดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาทักษะกระบวนการอ่านได้ทุกระดับ 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้จัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ซึ่งภายในหนังสืออ่านเพิ่มเติมจะประกอบด้วย ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของอำเภอ     เนินมะปราง สถานที่ท่องเที่ยว และประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับ ถ้ำผาท่าพล   ที่มีเนื้อหาอิงสาระหลักสูตร ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ตามความเหมาะสมของวัยและความสารถในการอ่านของแต่ละบุคคล
จุดมุ่งหมายของการวิจัย
       1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง  Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80
        2. เพื่อใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค   KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษ ก่อนและหลังเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม       
       3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วย หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
             การพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นการศึกษาในลักษณะ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่1 สร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง  Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80

  ในการสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง  Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยได้นำเสนอผลการสำรวจเอกสารงานวิจัยเป็นแนวทางการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ ซึ่งได้ หนังสืออ่านเพิ่มเติม เป็น 4 เรื่อง ประกอบด้วย

เรื่องที่ 1 Noen Maprang District                                                                            2 ชั่วโมง
เรื่องที่ 2 Pha Tha Phol Cave: Noen Maprang History                                           4 ชั่วโมง
เรื่องที่ 3 Pha Tha Phol Cave Natural and Wildlife Preservative                            4 ชั่วโมง
เรื่องที่ 4 History of Caves in Pha Tha Phol Cave                                                  4 ชั่วโมง



        และมีแผนการสอนประกอบการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ โดยใช้เทคนิค KWL Plus จากนั้นนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอน และด้านการสอนวิชาภาษาอังกฤษ 5 ท่าน พิจารณาความเหมาะสมของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษจากกนั้นนำมาปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเนินมะปรางศึกษาวิทยา อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 9 คน เพื่อตรวจสอบความชัดเจนด้านภาษา เวลา และความเหมาะสมของเนื้อหาของหนังสืออ่านเพิ่มเติมและทดลองใช้กับนักเรียนจำนวน 9 และ 30 คน ในโรงเรียนเดียวกัน เพื่อหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ โดยใช้เทคนิค KWL Plus ตามเกณฑ์ 80/80  

ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
แหล่งข้อมูล
         นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านไทรดงยั้ง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 20 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในขั้นตอนนี้  แบ่งเป็น  2 ประเภท ดังนี้
        1. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่าน
         2. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน   4 เรื่อง
       ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลอง และดำเนินการทดลองใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest Posttest Design)
ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษา อังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
แหล่งข้อมูล
            นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านไทรดงยั้ง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 20 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
             เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่  แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
การวิเคราะห์ข้อมูล

ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง   Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยวิเคราะห์หาค่าความเหมาะสมของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานส่วนการหาประสิทธิภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ วิเคราะห์โดยการหาค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ย

ขั้นตอนที่ 2 การทดลองและศึกษาผลการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง      Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ได้จากการทดสอบหลังเรียนกับเกณฑ์ร้อยละ 80 โดยการทดสอบค่า (t – test dependent)

ขั้นตอนที่ 3 หาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ที่มีต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษโดยหาค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำค่าเฉลี่ยทีได้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์และแปลผล
สรุปผลการวิจัย

    1.  หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นมีจำนวน 4 เรื่อง มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และ เมื่อนำไปหาประสิทธิภาพพบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.20/81.11 และ 82.03/82.25 ตามลำดับ





     2.  การเปรียบเทียบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ระหว่างก่อนและหลังการเรียนโดยใช้ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นพบว่า ผลสำฤทธิ์ทางการอ่านหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
       3.  ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมาก
อภิปรายผล
            จากผลการพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยได้นำประเด็นสำคัญที่ค้นพบมาอภิปรายผล โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา ดังนี้ 
       1. การสร้างและหาประสิทธิภาพ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 80/80 และมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.03/82.25 จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากการสร้างชุดกิจกรรมผู้ศึกษาค้นคว้าได้ศึกษาเอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วิชาภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคการสอนแบบ KWL Plus หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติม การวัดและการประเมินผล ตลอดจนงานการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ สุวิทย์    มูลคำ (2550, หน้า 73) หนังสืออ่านเพิ่มเติมคือหนังสือที่มีเนื้อหาสาระอ้างอิงหลักสูตร เพื่อช่วยให้การเรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นดำเนินการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมและแผนการสอนที่มีองค์ประกอบสอดคล้องกับการจัดการเรียนแบบ KWL Plus  ประกอบด้วยขั้นตอน คือ 1) ก่อนการอ่าน (K) 2) ระหว่างการอ่าน (W) 3) ระหว่างการอ่าน (L) 4) สรุปการอ่านเป็นแผนผังความคิด และเขียนสรุปทบทวนเรื่องที่อ่าน (Plus) ซึ่งดำเนินการตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ
            2. ผลการใช้ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน  พบว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้ หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านภาษาอังกฤษ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยมีความสอดคล้องกับงานวิจัยของ คะนึงนิตย์ ม่วงสี (2553, บทคัดย่อ) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ความสามารถทางการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2 ที่เรียนโดยวิธี KWL PLUS พบว่า คะแนนความสามารถทางการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยวิธี KWL PLUS สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05  และสอดคล้องกับงานวิจัยของ วีรยา โพยมรัตน์ (2553, บทคัดย่อ)  ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ เรื่อง Youth’s Risk โดยใช้เทคนิค KWL พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
           3.การศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เรื่อง Pha Tha Phol Cave โดยใช้เทคนิค KWL Plus สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก
ข้อเสนอแนะทั่วไป
          1. การสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม ผู้สอนควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ไม่ควรใช้คำที่ยาก และซับซ้อน
          2. สีสัน และภาพประกอบของหนังสืออ่านเพิ่มเติม ขนาดและรูปเล่มที่สามารถหยิบอ่านได้อย่างเหมาะมือ ส่งผลให้นักเรียนให้ความสนใจหนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นอย่างมาก จากจุดสำคัญนี้ ครูผู้สอนสามารถเรียกความสนใจจากนักเรียนโดยการจัดหาหนังสือที่มีรูปแบบสะดุดตา มีความสวยงาม และเนื้อหาที่มีประโยชน์ สามารถสร้างความรู้ความบันเทิงให้กับนักเรียน เพื่อเป็นการสร้างนิสัยให้นักเรียนเกิดนิสัยรักการอ่าน และยังสามารถจัดกิจกรรมจากการอ่านหนังสือได้ เช่น ทำหนังสือเล่มเล็กจากแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มโปรด ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกจินตนาการและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
            3. ก่อนการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ครูผู้สอนควรทำความเข้าใจกับผู้เรียน ควรให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับขันตอนการเรียนรู้แบบ KWL Plus เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจและปฏิบัติการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            4. ครูผู้สอน สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมสื่อการเรียนรู้ได้ หรือสอดแทรกบูรณาการ เกม เพื่อให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่าย และเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวในการทำกิจกรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจกับสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
           1. ควรมีการศึกษาโดยบูรณาการเทคนิคการสอนแบบ KWL Plus เพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่น เช่น ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน เป็นต้น
           2. ควรมีการศึกษาการใช้เทคนิคการสอนแบบ KWL Plus เปรียบเทียบกับเทคนิคการสอนอื่น โดยทำการศึกษากับทักษะการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป   
           3. ควรมีการศึกษาสร้างรูปแบบ หนังสืออ่านเพิ่มเติม ในแบบที่หลากหลาย เช่น การ์ตูน บทเรียนคอมพิวเตอร์ เรื่องสั้นโดยมีผู้เดินเรื่องเป็นการ์ตูน หรือหนังสือภาพสามมิติ เป็นต้น
บรรณานุกรม
กรมวิชาการ. (2551). ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้
           ภาษาต่าง  ประเทศตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑.
              กระทรวงศึกษาธิการ.
จินตนา  ใบกาซูยี. (2534). การเขียนสื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ : สุริยสาส์น.
คะนึงนิตย์ ม่วงสี. (2553).  ความสามารถทางการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
          ปีที่ 2 ที่เรียนโดยวิธีการ KWL Plus.  งานนิพนธ์ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. 
             มหาวิทยาลัยบูรพา.
บันลือ พฤกษะวัน (2545).  แนวทางการพัฒนาการอ่านเร็ว คิดเป็น.  กรุงเทพฯ.  ไทยวัฒนาพานิช.
วีรยา โพยมรัตน์.(2553). การพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ  เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์
          เรื่อง Youth’s Risk โดยใช้เทคนิค KWL สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. การ
            ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยนเรศวร. พิษณุโลก.
สุวิทย์  มูลคำ  และอรทัย (2545). 21 วิธีจัดการเรียนรู้: เพื่อพัฒนากระบวนการคิด. กรุงเทพ ฯ 
            ภาพพิมพ์
สุวิทย์ มูลคำ. (2550). ก้าวหน้าสู่การเลื่อนวิทยฐานะ.  กรุงเทพฯ.  ธรรมบัณฑิต.





    























           








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น